“อุทัยธานี” จังหวัดที่ดูเหมือนเงียบๆ เรียบง่าย จนในบางครั้งก็นึกไม่ออกว่าจะไปท่องเที่ยวชื่นชมดูอะไรดีที่นั่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดินแดนแห่งนี้มีอะไรดีๆ ที่มีชื่อเสียงอยู่หลายอย่างให้เราได้ศึกษาเที่ยวชม โดยแทบไม่ทันได้นึกไปว่า สิ่งที่เรารู้จักและได้ยินมานานนั้นมันอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานีนี่เอง
ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตผู้คนในชนบทริมสายน้ำสะแกกรัง ที่ยังคงความบริสุทธิ์ดั่งเดิมให้เราได้ชื่นชมศึกษากัน หรือวิถีศรัทธาทางศาสนาพุทธ ที่ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลมากราบสักการะหลวงพ่อฤษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง รวมไปถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ณ ฝืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งกับตำนาน สืบ นาคะเสถียร ที่เราเคยได้ยินมา
ฉบับนี้เราขอนำเสนอการท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานีกันที่อำเมืองและอำเภอบ้านไร่ ซึ่งจะอยู่ห่างกันประมาณ 60 กม. เปิดตัวให้รู้จักกันในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงง่าย ไปมาสะดวก เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบครอบครัว เพื่อจะเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่จะพาคุณแม่ไปเที่ยวในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ก็ได้ โดยเริ่มจากอำเภอเมืองก่อน แล้วค่อยไปจบกันที่อำเภอบ้านไร่ครับ
วัดจันทราราม (วัดท่าซุง)
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลน้ำซึม ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 5 กม.ตามทางสาย 3265 เป็นวัดที่สวยงามมาก ประกอบด้วย อาคารวิหารแก้ว ตกแต่งประดับประดาด้วยแก้วใสวาววับ ภายในมีโลงบรรจุสังขารหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน (มหาวีระ ถาวาโร) พระเถระที่มีชื่อเสียงเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนทั่วไป ถัดไปอีกด้านมี ปราสาททองคำ ตกแต่งด้วยทองคำเปลวฝีมือประณีตงดงามตระการตา เดิมวัดนี้เป็นวัดที่สร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา 30 ปี ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสชื่อ จันท์ ในสมัยพระนารายณ์มหาราช มีนายทหารชื่อจันท์กลับจากศึกเชียงใหม่ มาตามหาภรรยาแล้วไม่พบ จึงตัดวิถีชีวิตทางโลกด้วยการบวชเป็นพระอยู่ที่วัดนี้ ต่อมาได้เป็นสมภาร จึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วันจันทราราม” ตามชื่อท่านสมภาร เมื่อกาลเวลาผ่านไป สันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ร้างลง ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่บุคคลทั่วไปนิยมเรียกว่าวัดท่าซุงนั้น ก็เพราะในอดีตจังหวัดอุทัยธานีมีป่าไม้มาก จึงมีการขนส่งท่อนซุงมาลงท่าน้ำสู่แม่น้ำสะแกกรังซึ่งไหลผ่านบริเวณวัด เพื่อผูกเป็นแพล่องไปตามแม่น้ำ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2332 หลวงพ่อใหญ่ พระธุดงค์รูปหนึ่งได้มาปักกลดอยู่ ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธามาก จึงได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่วัดท่าซุงนี้ วัดนี้จึงมีเจ้าอาวาสดำรงอยู่ต่อมาอีกหลายรูป และซบเซาลงโดยไม่ได้บูรณะมากว่า 47 ปี จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อฤษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) ได้มาริเริ่มบูรณะวัดอีกครั้ง จนเป็นวัดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มีอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โต มีอาคารสวยงามประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตามากมายหลายอาคาร มีศาลาฝึกสมาธิ โดยอาคารแต่ละหลังจะมีเวลาเปิด-ปิดไม่ตรงกัน เช่น พระวิหารแก้ว 100 เมตร ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และสังขารของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อย จะเปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 9.00 -11.45 น. และ 14.00 -16.00 น., วิหารหลวงพ่อเงินไหลมาเทมา ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสูง 8 ศอก ผู้ศรัทธาได้เข้าอธิษฐานขอพรในเรื่องโชคลาภ การเงิน การงาน จ.- ศ. เปิด 9.00 – 11.00 น. และ ส.-อา. เปิด 9.00 – 16.30 น. เป็นต้น ใกล้ๆ กับวิหารหลวงพ่อเงินไหลมาเทมา ยังมีสวนสมเด็จฯ อันกว้างขวางสวยงามร่มรื่นให้พักผ่อนคลายร้อน หรือจะเดินจงกลมบำเพ็ญภาวนาเวียนไปรอบสวนที่สร้างเป็นอาคารทางเดินมีพระพุทธรูปประดิษฐานนับร้อยพันเรียงรายล้อมรอบสวนนี้ก็ได้
วัดสังกัสรัตนคีรี
ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง เขตเทศบาลเมือง มีจุดเด่น คือ บันไดที่ทอดยาวจาดยอดเขาลงสู่พื้นหลายร้อยขั้น เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นตัวเมืองจังหวัดอุทัยธานีได้อย่างรอบด้านแบบมุมกว้างพาโนรามา ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสำหรับเมืองอุทัยธานีนี้ได้รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สร้างในสมัยพระเจ้าลิไท ฝีมือช่างสุโขทัย มีส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันก่อนนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรีแห่งนี้ และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี จะมีประเพณีตักบาตรเทโว โดยพระสงฆ์ประมาณ 500 รูปจะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังมารับบิณฑบาตที่ลานวัดอันเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัด สามารถนำรถยนต์ขึ้นไปทางด้านหลังเขาได้ หากไม่ต้องการเดินขึ้นบันไดทางด้านหน้า
วัดโบสถ์
เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ แต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมลำน้ำสะแกกรังเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี เพียงจอดรถแล้วมองข้ามฝั่งน้ำไปก็จะได้เห็นภาพหมู่อาคารของวัดอันสวยงามตัดกับหมู่ไม้และท้องฟ้าฉากหลังอย่างน่าประทับใจมาก โดยเฉพาะอาคารมณฑปแปดเหลี่ยม ลักษณะรูปแบบไทยผสมตะวันตก มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ด้านนอกอาคาร นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมอันแปลกตาน่าสนใจที่สุด มีเจดีย์หกเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา เป็นศาลาทรงไทย ใช้เป็นหอสวดมนต์ หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น มีจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกี่ยวกับพุทธประวัติฝีมือประณีตมาก ส่วนในวิหารเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุมสลับกับพัดยศเหมือนจะไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นฝีมือชั้นหลัง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าชมอีก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ และหงส์ยอดเสา เป็นต้น
วิถีชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง
อยู่บริเวณสองฝั่งน้ำใกล้ๆ วัดโบสถ์นี้เอง เป็นเรือนแพที่ยังมีชีวิต มีผู้คนอาศัยดำรงชีพอยู่จริง ยิ่งถ้าได้มาเยือนในยามเช้าไปจรดสายแล้ว ก็จะได้เห็นความเป็นไปในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่นี่อย่างชัดเจน ด้วยบริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพอยู่เรียงราย ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เป็นตลาดใหญ่ ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ มีทุ่งนา สวนผัก สวนผลไม้ และป่าไผ่ธรรมชาติ เรือนแพที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพไม้ไผ่ ชาวแพบอกว่าอยู่สบาย หน้าร้อนลมเย็น หน้าหนาวตอนเช้าแดดอุ่น ชาวเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำปลาแห้งย่างรมควันขาย โดยมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาแรด และปลาเทโพบ้าง โดยเฉพาะปลาแรดที่เลี้ยงในกระชังนั้น จะไม่คาว เหมือนปลาแรดที่เลี้ยงในบ่อดิน ปลาแรดของที่นี่จึงนับว่าขึ้นชื่อมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มหวาน ด้วยเป็นเพราะน้ำไหลเวียนดี และมีแร่ธาตุบางอย่างที่เหมาะสมกับปลาแรดนั่นเอง การเที่ยวชมวิถีชาวแพนี้ต้องนั่งเรือชมทิวทัศน์ไปจนถึง อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท จึงจะได้พบภาพชีวิตเต็มอิ่ม หรือจะวนรอบตัวเกาะเทโพอย่างเดียวก็ได้ มีเรือจ้างจากบริเวณท่าเรือตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี ล่องไป อ.มโนรมย์ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าล่องเรือในช่วงเย็น ประมาณ 16.00 -18.00 น. จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกสวยงามมาก ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะเห็นยอดักปลาเต็มไปหมด บางครั้งอาจได้เห็นชาวบ้านพายเรือมาเก็บผักตบชวา เพื่อนำใบไปรองเข่งปลา หรือเลี้ยงหมู และยังมีเรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง โดยติดต่อได้ที่บริเวณสะพานวัดโบสถ์ มีทั้งเรือหางยาวจุผู้โดยสารได้12 คน ค่าเช่า 500 บาทต่อชั่วโมง หรือเรือนำเที่ยวขนาด 40 ที่นั่ง ราคา 3,500 บาท ใช้เวลา 3 ชั่วโมง สามารถสั่งอาหารไปรับประทานบนเรือได้ นอกจากนี้บริเวณลานสุพรรณิการ์ข้างศาลากลางจังหวัดยังมีบริการให้เช่าเรือคายัค พายเล่นในแม่น้ำสะแกกรัง มีทั้งแบบพายคนเดียว 2 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่ง มีเสื้อชูชีพบริการ ติดต่อปกครองจังหวัด โทร.0 5651 1444
กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง
ตั้งอยู่ที่ 32 หมู่ 2 ต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี การทอผ้าเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านบ้านผาทั่ง จึงมีการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้าน เริ่มต้นที่ คุณทองลี้ ภูมิผล ซึ่งเป็นประธานกลุ่มได้คิดรวบรวมกลุ่มสตรีเกษตรกร เพื่อใช้เวลาว่างจากงานหลักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตให้เป็นประโยชน์ จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสตรีผ้าไหมไทยในโครงการพระราชดำริ ผลิตสิ่งทอโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และทำออกจำหน่ายในรูปสิ่งทอผ้าไหม เสื้อผ้า งานจักรสาน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าซิ่น และผ้าลายพื้นเมืองต่างๆ จนได้รับรางวัลจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มาแล้ว ผลงานของกลุ่มทอผ้าบ้านผาทั่งนั้น ได้รับความนิยมทั้งกับชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะลวดลายที่มีความวิจิตรบรรจงสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สำหรับผลงานที่โดดเด่นและได้รับความนิยมเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดก็คือ ชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายทอมือผ่านกรรมวิธีย้อมสีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น โดยมีรางวัลการันตีคุณภาพ
วัดถ้ำเขาวง
ตั้งอยู่ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จุดเด่น คือ เรือนไทยประยุกต์หลังใหญ่ที่สร้างอยู่เชิงหน้าผาหินสวยเด่นเป็นสง่า แต่เดิมชื่อ ธรรมสถานถ้ำเขาวง เป็นสถานที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ ด้านบนมีถ้ำหลายแห่ง ในหน้าฝนจะมีน้ำตกไหลให้ความร่มเย็นชุ่มชื่น ในอดีตที่ผ่านมา หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้พาคณะศิษย์เดินธุดงค์ผ่านมาพบเห็นเป็นสถานที่ที่มีความวิเวกสงบร่มเย็นทั้งมีถ้ำให้ได้พอพักอาศัย จึงพักอยู่ 3 วัน แล้วก็ออกเดินทางต่อไป ต่อมาภายหลังหลวงพ่อบุญส่ง ปิยธมโม ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ได้ขออนุญาติหลวงพ่อสนอง เพื่อมาพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติ ในพรรษาแรกๆ กุฏิที่พักก็เป็นถ้ำเสียส่วนใหญ่ มีกระต๊อบมุงหญ้าคาที่ชาวบ้านสร้างให้บ้าง แต่การจำพรรษาอยู่ด้านบนเป็นการลำบากมากต่อทั้งญาติโยมที่มาทำบุญ และพระเองเวลาไปบิณฑบาตก็ต้องปีนลงมา นายทง เลขยัน ผู้มีจิตศรัทธาจึงถวายที่ดินให้จำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีการพัฒนาสร้างกุฏิศาลาที่พักให้มีความสะดวกสบายขึ้น ในปี พ.ศ.2536 ท่านเริ่มทำการปลูกสร้างศาลาทรงไทยเอนกประสงค์ขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูสถาปัตยกรรมไทย เพราะนับวันบ้านทรงไทยจะหาดูได้ยากขึ้นทุกวัน โดยนำวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ตอไม้ รากไม้ ไม้แกน ทำให้ศาลาทรงไทยสวยเด่นแปลกตามากขึ้น
ถ้ำพุหวาย
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 3011 แยกเข้าทางเดียวกับสวนห้วยป่าปกรีสอร์ท และวัดถ้ำเขาวง แต่ทางไปถ้ำจะอยู่เลยจากแยกเข้าวัดถ้ำเขาวงไปประมาณ 4 กิโลเมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ทางเข้าถ้ำอยู่บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป ก่อนเข้าชมต้องติดต่อคนนำทางบริเวณปากถ้ำ โดยใช้เวลาเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมง ภายในกว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีโพรงทะลุถึงด้านตรงข้ามของภูเขา มีหินงอกหินย้อย เป็นรูปคล้ายสิ่งต่างๆ สุดแต่จะจินตนาการ สิ่งที่น่าสนใจภายในถ้ำ มีอยู่ 20 จุดด้วยกัน เพื่อไม่ให้หลงสับสน จึงควรเดินตามแผนที่ชมถ้ำที่แสดงอยู่ตรงปากทางเข้าถ้ำจะดีที่สุด นอกจากนี้ในถ้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวถึง 9 ชนิด แต่เมื่อเราเดินเข้าไปในถ้ำคงได้เพียงกลิ่นขี้ค้างคาวและเห็นเงาดำๆ ของค้างคาวเท่านั้น เพราะค้างคาวจะเกาะที่ผนังถ้ำด้านบน
น้ำตกไซเบอร์ (น้ำตกหินลาด)
ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านไซเบอร์ ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตามเส้นทาง 3282 ไปทาง อ.ลานสัก ผ่านวัดห้วยแข้ง บ้านน้ำพุ ถึงบ้านคลองแห้ง เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางลูกรัง 7 กม. สามารถขับรถไปจอดได้ถึงหน้าที่ทำการได้ แล้วเดินเท้าต่อไปอีก 800 ม.เ ป็นน้ำตกขนาดเล็กสูง 25 ม. มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาใหญ่ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว เส้นทางเดินจากที่ทำการลัดเลาะไปสู่น้ำตก เป็นลำธารเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยไม้ป่านานาพันธุ์อันร่มรื่น มีแอ่งน้ำใหญ่ให้ลงเล่นน้ำได้ บริเวณโดยรอบเหมาะแก่การนั่งพักผ่อนสัมผัสธรรมชาติมาก มีนกป่าหายากมากมายที่สามารถพบได้ระหว่างเส้นทางที่น้ำตกไหลผ่าน มีบ้านพักและจุดกางเต๊นท์ให้บริการ โดยสามารถติดต่อได้ที่ที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ โทร.08 5734 1196 หรือ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โทร.08 5725 8433
และนี่คือ 8 แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุทัยธานีที่ทางคู่หูเดินทางภูมิใจนำเสนอ การใช้ชีวิตให้ช้าลง สัมผัสกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เป็นวิถีชีวิตที่ชาวเมืองกรุงยากที่จะได้สัมผัส ลองหาเวลาวันว่างกันดูนะครับ เพราะที่นี่มีความหลากหลายที่ยังคงความบริสุทธิ์รอคุณให้มาเยือน…อุทัยธานี
Tips การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 333 ตรงทางแยกท่าน้ำอ้อยบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-อุทัยธานีทุกวัน ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
5,075 total views, 3 views today