ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2512 ได้มีเจ้าหน้าที่สหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศได้เข้ามาชักชวนองค์การเอกชนในประเทศไทยให้เข้าร่วม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากองค์การเอกชนของประเทศไทยขณะนั้นยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศก็มิได้ย่อท้อ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนมาเป็นระยะ จนกระทั่งครั้งที่ 3 องค์การเอกชนของประเทศไทยที่ได้รับการชักชวนได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาผู้บริโภคมีชื่อว่า กรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค ในปี พ.ศ. 2514 และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 ในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตะกิตย์ เป็นประธานกรรมการ การปฏิบัติงานโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี และศึกษาหามาตรการถาวรในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในหลักทางสาระบัญญัติ และการจัดองค์การของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้พิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และรัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภา มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ รัฐบาลจึงได้นำร่างขึ้นกราบบังคมทูลฯ ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธย ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา ดังนั้น วันที่ 30 เมษายน ของทุกปี จึงถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
1,647 total views, 2 views today