ช่วงนี้หลายคนคง Work from Home (WFH) กันยาวไป ๆ ทำให้เวลาอยู่บ้านไม่ค่อยได้ขยับตัวกันสักเท่าไหร่นัก ซึ่งการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นอกจากจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังก่อให้เกิด “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” โดยที่เราไม่รู้ตัว 

พฤติกรรมเนือยนิ่ง คืออะไร

พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือ Sedentary Behavior หมายถึงการนั่งหรือนอนขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้พลังงานเพียง 1.5 MET (หน่วยที่ใช้ในการประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ถูกร่างกายใช้) ดูไปก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสังคมในปัจจุบันไม่น้อย เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต่างคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเล่นโทรศัพท์เฉย ๆ ก็สามารถสั่งซื้ออาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้มาส่งถึงหน้าบ้าน โดยไม่ต้องขยับร่างกายให้เสียพลังงานแม้แต่ MET เดียว

แต่ความสะดวกสบายเหล่านี้กำลังบั่นทอนสุขภาพกายเราอย่างช้า ๆ และพฤติกรรมดังกล่าวก็เข้าข่าย “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” แบบเต็ม ๆ อีกทั้งยังมีผลจากวิจัยระบุว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ จากการสำรวจผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป พฤติกรรมดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และภาวะของเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุงนั่นเอง ส่วนเด็กที่มีอายุไม่เกิน 8 ปี เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ปัญหาความดัน ระดับคอเลสเตอรอล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการเข้าสังคม และนำไปสู่การมีปัญหาด้านการเรียน เป็นต้น

วิถีสโลว์ไลฟ์เสี่ยงต่อพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือไม่?

การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์นั้นอาจจะดูคล้ายกันมากกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง แต่ในความคล้ายย่อมมีความแตกต่าง พฤติกรรมเนือยนิ่งคือการเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุดหรือแทบไม่เคลื่อนไหวเลย ขณะที่การใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ หมายถึงการใช้ชีวิตในจังหวะที่ช้าลง สวนทางกับสภาพสังคมที่ต่างเร่งรีบกันทำเวลาในปัจจุบัน ดังนั้น หากคุณกำลังใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์อยู่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจหนักเท่าการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งอย่างแน่นอน

พฤติกรรมแบบไหนที่เอื้อต่อการเนือยนิ่ง

+ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์

+ การนั่งประชุมเป็นเวลานาน

+ การอยู่ในรถท่ามกลางจราจรที่ติดขัด

+ การนั่งหรือนอนดูทีวี

+ การนั่งหรือนอนเล่นสมาร์ทโฟน

+ การนั่งหรือนอนอ่านหนังสือ

WFH อย่างไร ไม่ให้ “เนือยนิ่ง” 

+ หากทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ลองละสายตาจากหน้าจอบ้าง อาจจะลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายก่อนจะนั่งทำงานต่ออีก 1 ชั่วโมง ควรจะลุกขึ้นทุกชั่วโมงเพื่อผ่อนคลายสายตาและกล้ามเนื้อ

+ หากละสายตาจากหน้าจอไม่ได้จริง ๆ อาจเปลี่ยนมายืนทำงาน เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น อีกทั้งยังมีงานวิจัยระบุว่า การยืนทำงานช่วยลดความเหนื่อยล้าของพนักงาน และยังทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

+ เดินและยืนให้มากขึ้น ระหว่างการทำงาน หากเช็กข้อความหรืออีเมล ลองเปลี่ยนจากการนั่งอ่านมาเป็นยืนอ่านข้อความ หรือจะเดินไปเดินมาระหว่างอ่านหรือทบทวนอีเมล เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ แน่นอนว่าการใช้บันไดแทนลิฟต์ก็เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนในวัยทำงานหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในผู้สูงอายุได้เช่นกัน จากรายงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) พบว่า 10-20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมีภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้หญิง และยิ่งมีอายุมากความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การออกมาพบปะพูดคุยกัน ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่อย่าลืมว่าเรามีเทคโนโลยี ซึ่งเป็นดาบสองคมที่มีทั้งข้อดี และอาจเป็นตัวร้ายที่ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยไม่รู้ตัว 

หากลองเปลี่ยนจากการไถหน้าฟีดไปมา เป็นการกดโทรออกไปหาคนในครอบครัว หรืออาจจะวิดีโอคอลเพื่อส่งต่อรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้คนไกลบ้านได้รู้สึกอบอุ่นใจ เทคโนโลยีตัวร้ายก็จะกลายมาเป็นผู้ประสานระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้ไม่ยาก

Photo:pexels.com

 1,232 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version