“โรคฉี่หนู” หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มักพบการระบาดในหน้าฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยจึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคฉี่หนู” นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด และทางอ้อม เช่น เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล มือสัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเอาเชื้อเข้าทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก และดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป

ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย มีเพียงประมาณ 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการเร็วหรือช้า แต่ละคนไม่เท่ากัน บางรายเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์หรือประมาณหนึ่งเดือน ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

อาการของโรคฉี่หนูที่เป็นลักษณะเด่นๆ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรก : อาการแสดงต่าง ๆ จะเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย ได้แก่ หลัง หน้าท้อง ต้นขา น่อง รวมทั้งเจ็บคอ เจ็บหน้าอก ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง เยื่อบุตาบวม มีผื่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้ามโต อาการมักเป็นหลายอย่างๆ ร่วมกันไม่เฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง คล้าย ๆ กับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้ไทฟัส เป็นต้น อาการระยะแรกจะเป็นอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วจะดีขึ้นแต่หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะที่ 2 ตามมา

ระยะที่สอง : เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเอง มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หลายอย่าง เช่น การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เลือดออกในเนื้อปอด ตัวเหลืองตาเหลืองหรือภาวะดีซ่าน ไตวายเฉียบพลัน ร่วมกับภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่าง ๆ และอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงที่น้ำขัง น้ำสกปรก หรือควรล้างเท้าด้วยน้ำสบู่หลังย่ำน้ำสกปรก หากสงสัยว่ามีอาการของโรคฉี่หนู ควรพบแพทย์ทำการเพื่อตรวจรักษา

ภาพประกอบ: nationalgeographic.co.uk

 1,293 total views,  2 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version