เมื่อพูดถึงโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าบอกว่าโรคนี้เสี่ยงให้เกิดอัมพาต ก็คงต้องหันมาสนใจกันหน่อยแล้วล่ะ อันที่จริงนั้นอัมพาตอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สถิติตัวเลขของผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ การที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่างๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และในประเทศไทยแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 คน ในปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดสมองประกอบด้วยการรักษาทางยาหรือผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยในช่วง 3 – 7 วันแรกของการเจ็บป่วยถือเป็นระยะวิกฤตที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านในหลอดเลือดสมอง หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดจากการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตัน รวมถึงการแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไปหรือเกล็ดเลือดมากเกินไปล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ โดยมักจะมีอาการในเบื้องต้นดังนี้
มีอาการชาครึ่งซีก
อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง) 
พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ชัด ทันทีทันใด
ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน
ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ข้างต้น
ดังนั้น หากเกิดอาการข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมา อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากไม่อยากเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตามมา

 2,090 total views,  2 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version