ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น มักพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 – 8 ขวบ แต่ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงลาย 

อาการส่วนมากไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ลักษณะที่สำคัญของไข้เลือดออกมีอาการสำคัญ 4 ประการคือ 


1. ไข้สูงลอย 
ไข้ 39 – 40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4 – 5 วัน 

2. อาการเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว 

3. ตับโตหรือตับอักเสบ อาการตับอักเสบอย่างรุนแรง สามารถพบได้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกเช่นกัน โดยจะเกิดขึ้นกรณีที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายตับ หรือเกิดจากการที่ตับถูกทำลายเพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน 

4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบา ความดันต่ำส่วนตุ่มหรือผื่นแดงนั้น จะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา 

ระยะของการเป็นไข้เลือดออก

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูงผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน โดยไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ได้ ร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพักๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย โดยในระยะ 3 วันที่ป่วยตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัดๆ

ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 7 ของการป่วย และมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ป่วยจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ซึ่งระยะนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24 – 27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัวในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้ โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7 – 10 วันหลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค

ลักษณะของยุงลายเป็นอย่างไร

ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก คือ “ยุงลายตัวเมีย” มีลักษณะเป็นลายสีขาวสลับดำที่ท้อง ลำตัวและขา พบมากตามบ้านอยู่อาศัยและในสวน ออกหากินในเวลากลางวัน และขยายพันธุ์โดยวางไข่ในน้ำนิ่ง พบบ่อยตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่า และเศษวัสดุอื่นๆ เป็นต้น ทุกวันนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษา ไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุง และโรคไข้เลือดออกไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิด โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก รวมถึงการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง งดการกินอาหารที่มีสีแดง สีน้ำตาล สีดำ ในระหว่างเกิดภาวะโรค

 

 2,471 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version