ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน “สมาร์ทโฟน” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนนอกจากจะใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีแท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์อีก ทำให้ใช้สายตากันทั้งวัน แถมยังเกิดกับทุกเพศทุกวัยเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่พบว่าในปัจจุบันส่วนมากใช้เวลาวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง ในการนั่งเล่นสมาร์ทโฟนแทนของเล่นอื่นๆ โดยที่ไม่เคยรู้หรือรู้แต่ไม่ตระหนักว่า การนั่งเพ่งสายตาตลอดเวลา ยิ่งการนั่งเล่นเกมจนติดพัน ไม่ยอมละสายตาจากหน้าจอนั้น อาจกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย นั่นคือทำให้เกิดปัญหาอาการ “สายตาสั้นเทียม” (Pseudomyopia) ตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 13 ปี จะเกิดอาการสายตาสั้นเทียม ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานแล้วทำให้สายตาค้าง หมายถึงอาการคลายของสายตาช้าลง สายตายังคงมีอาการเพ่งค้างอยู่ในระยะใกล้ เนื่องจากใช้สายตามานาน จนเด็กบางคนสายตาค้างนานเป็นวัน สำหรับอาการที่ปรากฏคือ ภาพที่เด็กเห็นไม่โฟกัส มีอาการตาพร่า มองไกลไม่ชัด ทำให้ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเด็กเริ่มมีปัญหาสายตาสั้น หลายคนจึงพาเด็กไปวัดสายตาที่ร้านแว่น ทำให้ได้แว่นสายตาสั้นมา หากเด็กใส่แว่นที่ไม่ใช่ค่าสายตาของตัวเองจะส่งผลให้เด็กต้องเพ่งระยะสายตาตามระยะของแว่นไปด้วย ส่งผลเสียต่อเด็ก ทำให้เด็กมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจทำให้สายตาสั้นจริงๆ ตามแว่นไปด้วย ที่สำคัญผลจากการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องนี้จะทำให้ผู้ปกครองหรือคนที่มีปัญหาสายตาสั้นเทียมต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตัดแว่นโดยใช่เหตุ
วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสายตาสั้นเทียมคือ “การพักการใช้สายตา” อย่างการใช้สายตาทุกๆ 30 – 45 นาที ควรหยุดพักการใช้สายตาประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ตาคลายภาวะการเพ่ง ไม่ให้เกิดอาการเพ่งค้าง
1,842 total views, 1 views today