ในส่วนของ “คอลัมน์คู่หูพาเที่ยว” ฉบับนี้ เราเลยอยากจะนำเสนอถึงจังหวัดน้องใหม่ ‘บึงกาฬ’ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่คนทั่วไปยังไม่รู้จักกันมากนัก ด้วยเพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สุดของประเทศ ระยะทางจึงค่อนข้างไกลถึงไกลมาก ใช้เวลาเดินทางเกือบ 13 ชั่วโมง
‘บึงกาฬ’ ได้รับการรับรองเป็นจังหวัดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมานี้ จากเดิมเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย แต่ด้วยจำนวนประชากร และลักษณะพิเศษของพื้นที่เป็นแนวยาวทอดตามแม่น้ำโขง จึงมีผลต่อการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน เพราะพื้นที่สามารถเชื่อมผ่านไปยังประเทศต่างๆ ในเขตอินโดจีน จึงมีอนาคตที่ดีที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดได้ ที่สำคัญยังเป็นผลดีต่อการให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดหนองคาย ที่เดิมเวลาเข้ามาติดต่อราชการ หรือทำธุระในตัวจังหวัด ต้องถึงขั้นนอนค้างอ้างแรมกันเลยทีเดียว
ด้วย ‘บึงกาฬ’ เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุ่มชื้น อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานอย่างประหลาด ภูมิประเทศอยู่ในตำแหน่งดี ใกล้อ่าวตังเกี๋ยของประเทศเวียดนามมากที่สุด จึงมีพายุฝนจากอ่าวตังเกี๋ยพัดเข้ามาถึงเกือบตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับอิทธิพลความชุ่มชื้นจากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศลาวตลอดแนวลำน้ำโขง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่จังหวัดบึงกาฬไม่เคยแล้งเลย สังเกตได้จาก ห้วย หนอง คลอง บึง กุด(ลำนำโค้ง) ที่มีอยู่มาก โดยปัจจุบันได้มีการนำต้นยางพาราไปปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างมาก
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดบึงกาฬมีอยู่มาก ทั้งจากธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อาทิ วัดอาฮงศิลาวาส , แก่งอาฮง, วัดภูทอก, วัดสว่างอารมณ์, ตลาดนัดไทย-ลาว, บึงโขงหลง, เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูวัว, น้ำตกเจ็ดสี, น้ำตกตาดกินรี, หาดทรายขาว, หนองกุดทิง ฯลฯ เป็นต้น ตอนที่ทีมงานเดินทางไปทำคอลัมน์ ประมาณกลางเดือนที่แล้วเป็นช่วงมรสุมเข้า ฝนตกทุกวัน ทุกเวลา (ปกติไม่มีมรสุมฝนก็ตกค่อนข้างบ่อย จนเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่) จึงเป็นอุปสรรในถ่ายรูปและเดินทาง ทำให้เราเก็บภาพความงามงดงามและเรื่องราวมาได้เพียงไม่กี่สถานที่เท่านั้น แต่รับรองว่าแต่ละที่ที่นำเสนอ “ห้ามพลาดเด็ดขาด!”
การเดินทางมายังจังหวัดบึงกาฬ จะผ่านจังหวัดสระบุรี นคราราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ให้ขับรถมุ่งหน้าตรงมายังอำเภอเมืองบึงกาฬก่อน เพราะกว่าจะถึงก็คงจะพลบค่ำแล้ว ติดต่อหาที่พักหลับนอน พักผ่อนให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้มีแรงออกสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจกัน…
เริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการเดินเล่น ช้อป ชม ชิม กันที่ ตลาดนัดไทย-ลาว บริเวณถนนเลียบแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากตลาดสดสักเท่าไหร่ โดยมีต้นก้ามปูต้นใหญ่มากๆ เป็นจุดเริ่มต้น ในทุกเช้าวันอังคารและวันศุกร์ จะมีพ่อค้า-แม่ค้าชาวลาวข้ามแม่น้ำโขง เอาของมาขายร่วมกับพ่อค้า-แม่ค้าไทย ในตลาดนัดแห่งนี้ ซึ่งมีสีสัน สร้างความสนุก และความแปลกตาได้ไม่น้อย เพราะมีของป่า ของหายากจากฝั่งลาวที่บางครั้งเราไม่เคยเห็นมาก่อน มาวางขายมากมาย อย่างเช่น จิ้งจกเก้าหางไว้ทำเครื่องรางของขลังให้หนุ่มรักสาวหลงพืช และว่านสมุนไพรต่างๆ อาหารสดพวก ปลา ปู กุ้ง กบ เขียด ก็มีให้เห็นอยู่หลายร้านใส่กันมาเป็นเข่ง มีผัก ผลไม้สดๆ หลายชนิด ทั้ง ผักกระเฉดลำต้นอวบๆ ฝัก แฝง มะละกอ หน่อไม้ ทุเรียน ลำไย หรือของบางอย่างที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่น่ารับประทานก็มีมาก อาหารพื้นเมือง เช่น ปอเปี๊ยะเวียดนาม, ต้มเส้น(ก๋วยเตี๋ยวน้ำเส้นกลมแบบเวียดนาม )ข้าวจี่, ขนมปังฝรั่งเศสสูตรลาว ก็มี มีผ้าซิ่น ผ้าไหม เสื้อผ้า ของใช้วางขายหลายหลากตามสไตล์ตลาดนัด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 7 โมงเช้าจนถึง 11 โมง เลยตลาดลงมาทางใต้จะเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ ชื่อ “บึงกาฬ” ซึ่งเป็นที่มาของจังหวัดนี้ สามารถมาชมวิวยามพระอาทิตย์ตกดินได้ หรือถ้าใครอยากเดินทางข้ามไปยังฝั่งลาวก็สามารถทำได้โดยไปนั่งเรือข้ามฟากที่ “ด่านศุลกากรบึงกาฬ” หรือ จุดผ่านแดนบึงกาฬ-ปากซัน ด่านแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬประมาณ 4-5 กิโลเมตร เปิดบริการเวลา…………. ราคาค่าข้ามฟากคนละ…………บาท เมื่อข้ามไปถึงด่านปากซันฝั่งลาวก็จะมีรถจัมโบ้ หรือ สามล้อเครื่องให้บริการพาเข้าไปเที่ยวยังเมืองปากซัน
ในตัวอำเภอเมืองของบึงกาฬยังมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดใจนักท่องเที่ยว อาทิ การเที่ยวชม “โรงหนังแสงชัยรามา” ซึ่งเป็นโรงหนังพัดลมที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย อายุกว่า 30 ปี มีหนังใหม่ๆ มาฉายตลอด อยากรู้ว่าได้อารมณ์แบบไหนต้องไปสัมผัสดู อีกอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็จะเป็นพวกบ้านเรือนไม้เก่าๆ ทรงโบราณ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงเสน่ห์อยู่ ในบริเวณถนนริมโขงจะมีศาลาริมน้ำให้ชาวบ้านได้มานั่งพบปะสังสรรค์ พักผ่อนอารมณ์ บางจุดมีการกางโต๊ะ ปูเสื้อ เปิดเป็นที่นั่งรับประทานอาหารแบบซีวิวของร้านค้ากันเลย ผู้คนน่ารัก อัธยาศัยดี มีรถมอเตอร์ไซด์สามล้อพ่วง เป็นพาหนะประจำถิ่น ถนนหนทางแต่ละซอยสามารถเดินตัดทะลุถึงกันได้ จุดที่สวยที่สุดก็คงเป็นบริเวณถนนเลียบแม่น้ำโขง มองเห็นวิวทั้ง 2 ฝั่ง แต่ด้วยช่วงนี้เป็นหน้าน้ำ น้ำจึงมีระดับสูง ไหลแรง และเชี่ยวมา มีฝนตกอยู่ตลอด เราจึงไม่ค่อยเห็นภาพเรือหาปลาสักเท่าไหร่
ต่อกันด้วยสถานที่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักดี “แก่งอาฮง” หรือจุดชม “สะดือแม่น้ำโขง” ณ วัดอาฮงศิลาวาส ตำบลหอคำ เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ ห่างจากตัวจังหวัด 21 กิโลเมตร ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกที่สุดไม่สามารถวัดความลึกได้ กระแสน้ำไหลเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลากและมีกระแสน้ำไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่จังสังเกตได้จากเมื่อมีวัสดุหรือซากไม้ขนาดใหญ่ลอยมาเมื่อถึงบริเวณนี้ สิ่งของต่างๆ จะหมุนวนอยู่ประมาณ 30 นาที จึงจะไหลต่อไป ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็น “สะดือแม่น้ำโขง” มีความกว้างประมาณ 300 เมตร ในฤดูน้ำลด และมีความกว้างราว 400 เมตร ในฤดูน้ำหลาก สามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะมีกลุ่มหินที่ปรากฏบริเวณแก่งอาฮง จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้น นาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย นอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวชมหินสวยของบึงกาฬแล้ว ยังเป็นจุดชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “บั้งไฟพญานาค” ในช่วงออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เป็นจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดโทร.0-4202-4000
อีกวัดหนึ่งที่มีความงดงามเช่นกัน คือ วัดสว่างอารมณ์ (วัดถ้ำศรีธน) วัดนี้อยู่ในพื้นที่อำเภอปากคาด เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดบึงกาฬ เป็นวัดที่มีทิวทัศน์สวยงาม เต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ และเงียบสงบ มีโบสถ์ตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่ มีหลืบถ้ำด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพาน บริเวณด้านบนก้อนหินเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำโขง วัดนี้มีประวัติความเป็นมาว่า เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวบ้านปากกล้วย ซึ่งอพยพมาจากแขวงเมืองปากซัน ประเทศลาว ขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าดงดิบรกทึบเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งในแต่ละปีจะมีพระธุดงค์ผ่านมาพำนักอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่เพื่อให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ครบองค์ประกอบ ต่อมาพระอธิการด่อน อินทสาโร หรือหลวงปู่ด่อน ซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านปากคาดนับถือ ได้สร้างวัดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และเจริญมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน เหตุที่เรียกกันอีกชื่อว่าวัดถ้ำศรีธนนั้นสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะว่าวัดแห่งนี้อยู่ใกล้กับเมืองเป็งจานนครราช ซึ่งเป็นเมืองของท้าวศรีธนนั่นเอง
ไฮไลท์เด็ดสุดที่เราไม่อยากให้คุณพลาดเลย คือการไปเยี่ยมชม “วัดภูทอก” หรือ “วัดเจติยาคีรีวิหาร” ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความเงียบสงบ สวยงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม โดยมี “พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เป็นผู้ก่อตั้ง โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 222 ไปทางอำเภอศรีวิไล มีป้ายบอกทางเป็นระยะ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50 กิโลฯ วัดภูทอก อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวชม สถานที่สะอาดสะอ้าน จุดเด่นของภูทอกก็คือ สะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก แบบ 360 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม จากชั้น 1 – ชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้ให้เดินแบบตรงทอดยาวจนถึงจุดสูงสุดของยอดภูทอก และตั้งแต่ชั้นที่ 3 เป็นต้นไปนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมแบบสะพานเวียนรอบเขา ซึ่งจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อยๆ ในแต่ละย่างก้าว ในชั้นที่ 5 ถือว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด จะมีศาลาขนาดใหญ่ พระพุทธรูป กุฏิพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนด้วย พื้นที่สะอาดกว้างขวาง ดูแล้วร่มเย็นมาก เหมาะสำหรับการนั่งสวดมนต์ปฏิบัติธรรมสำหรับนักแสวงบุญ หรือผู้ที่ใฝ่หาความสงบ ตลอดตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายจุด เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ มีที่ให้นั่งพักสำหรับความอ่อนล้าระหว่างทางเดินเป็นระยะ ถ้าเดินมาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีลักษณะแปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายๆ กับพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า คือ เป็นหินแยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่ แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่อย่างได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา ในเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 จะเป็นจุดชมวิวิที่สวยที่สุด ตลอดทางเดินจะเป็นหน้าผายื่นออกมาทำให้ในบางครั้งเวลาเดินต้องเบี่ยงตัวออกมาเล็กน้อย โดยแต่ละจุดก็จะมีชื่อของหน้าผาที่แตกต่างกัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกลอยอยู่รอบๆ ยอดเขา ทำให้เหมือนอยู่บนสวรรค์ สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตคือ มีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ มีน้ำขังอยู่เกือบตลอดปี ในส่วนชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งไม้และรากไม้เดินลำบาก แถมยังมีป้ายบอกให้ “ระวังงู” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากบนยอดภูแห่งนี้ด้วย ควรใช้อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่ก็จะมาบรรจบกันด้านบนชั้น 7 หรือดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม่ทึบธรรมดา มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่
การได้มาเที่ยวชมที่นี่ นอกจากจะได้เห็นถึงความสวยงามขอธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกไม้นานาพันธุ์แล้ว เรายังได้เห็นธรรมะและความเพียรที่ “พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” ได้แฝงบอกเราไว้ตลอดเส้นทาง โดยมีข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา เนื่องจากเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ผู้เข้าเยี่ยมชมจึงควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน ห้ามทำลามกอนาจาร และควรแต่งกายให้สุภาพ ไม่เหมาะสำหรับการพาเด็กเล็กขึ้นไป
เราขอจบทริปการท่องเที่ยวบึงกาฬไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เพราะด้วยฟ้าฝนไม่เอื้ออำนวย ต้องถ่ายรูปไปด้วย กางร่มไปด้วย หากคราวหน้าได้มีโอกาสมาเยือนยังจังหวัดน้องใหม่นี้อีกครั้ง เราจะเก็บตกสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ มาฝากคุณผู้อ่านกันอีกอย่างแน่นอน สวัสดี ‘บึงกาฬ’
TIPS การเดินทาง
* รถยนต์ส่วนตัว
– จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา – ขอนแก่น – อุดรธานี – หนองคาย และจากหนองคายจะผ่านอำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอปากคาด มุ่งหน้าสู่ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ที่ทางหลวงหมายเลข 212 รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 751 กิโลเมตร
* รถโดยสารประจำทาง
มีรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
10,245 total views, 2 views today