กรุงเทพมหานครของเรามีอายุมากว่า 200 ปีแล้ว และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายหลายแห่ง บางคนเกิดที่กรุงเทพแท้ๆ ยังอาจไม่เคยได้มีโอกาสได้เดินเที่ยวเล่นศึกษาหาความรู้กับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจต่างๆ รอบเกาะรัตยโกสินทร์เลย กรุงเทพมหานครขของเรามักจะได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่ามาเยือนอันดับต้นๆ เกือบทุกปีจากสื่อต่างชาติ แล้วคุณหละ! ได้ออกสำรวจเดินทางค้นหาความน่าสนใจที่แอบซ่อนไว้ในเมืองกรุงของเราหรือยัง?
คุ่หูพาเที่ยวฉบับนี้เลยขออาสาพาคุณผู้อ่านเดินเที่ยวลัดเลาะรอบเกาะรัตนโกสินทร์กัน เพราะถือเป็นไฮไลท์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนเป็นจำนวนมาก สำหรับท่านผู้อ่านที่ผ่านไปผ่านมาเป็นประจำจนอาจจะเห็นว่า ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ คลองหลอด ปากคลองตลาด ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ฯ ยันแหล่งบันเทิงราตรี เช่น ถนนข้าวสาร ฯลฯ นั้นสุดแสนจะชินตา ดูว่าเป็นของธรรมดาๆ อย่างที่สุด ก็ขอให้ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ เริ่มศึกษาความเป็นมาของสถานที่เหล่านี้พอสังเขป เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะออกไปสำรวจของจริงกัน แล้วคุณจะพบว่า การท่องเที่ยวลัดเลาะชมเกาะรัตนโกสินทร์นั้น มีความหมาย ได้ความสนุกเพลินเพลิน มีคุณค่า ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า เรารู้จักและหลงรักเมืองนี้มากกว่าเดิม
ความหมายของชื่อ กรุงรัตนโกสินทร์ มาจาก รัตนะ แปลว่า แก้ว ส่วน โกสินทร์ หมายถึง พระอินทร์ สองคำนี้เมื่อนำมารวมกันหมายถึง แก้วของพระอินทร์ แก้วที่ว่านี้ก็คือ พระแก้วมรกต ซึ่งตามตำนานว่าสร้างขึ้นโดยแก้วของพระอินทร์นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการเดินลัดเลาะรอบเกาะรัตนโกสินทร์ครั้งนี้ เราขอเริ่มจาก ป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมขึ้นทั้งหมด 14 แห่ง เพื่อป้องกันพระนคร แต่เมื่อเวลาผ่านไปป้อมปราการเหล่านี้ก็หมดความจำเป็นลงเรื่อยๆ จึงถูกรื้อ ป้อมพระสุเมรุเป็นเพียง 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ (อีกป้อม คือ ป้อมมหากาฬ บริเวณสะพานผ่านฟ้า) มีลักษณะที่สวยสง่างาม มีเชิงเทียนน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมบูรณะขึ้นใหม่เมื่อ 2524 ตามรูปแบบเดิมจากภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 และยังปรับปรุงบริเวณโดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะไว้สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อยใจให้กับประชาชนทั่วไป โดยให้ชื่อว่า “สวนสันติชัยปราการ” มีพลับพลาที่ประทับชื่อว่า “พระที่นั่งสันติชัยปราการ” เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบงานพระราชพิธีทางชลมารถ
ฝั่งตรงข้ามป้อมพระสุเมรุตรงโค้งถนน จะมี ร้านโรตีมะตะบะ ร้านอาหารอิลสามเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน รสชาติของเครื่องแกงและเครื่องเทศแต่ละเมนู สร้างความประทับใจให้กับนักชิมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมนูเด่นๆ ของทางร้านก็จะมี โรตีมะตะบะไส้ไก่ โรตีมะตะบะไส้ปลา โรตีแกงกระหรี่ สตูเนื้อ แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่นไก่ ข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะ เป็นต้น พร้อมเครื่องดื่มชาและกาแฟรสดี เปิดบริการทุกวัน (หยุดวันจันทร์) เวลา 9.00 – 22.00 น. โทร. 0 2282 2119
หลังจากทานอิ่มได้ที่มีพลังแล้ว เราจะพามุ่งหน้าไปลอดใต้สะพานพระปิ่นเกล้าฯ จะพบ โรงละครแห่งชาติ ที่นี่จะมีโปรแกรมการแสดงแจ้งไว้ให้ทราบตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงตามแบบฉบับศิลปะไทยโบราณที่หาชมได้ยาก ถ้าสนใจโปรแกรมไหน ก็สอบถามเจ้าหน้าที่ดู แล้วหาวันว่างมาชมหรือสอบถามสำรองที่นั่ง โทร. 0 2224 1342 ส่วนทางด้านขวามือรั้วติดกันกับโรงละคร คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ประทับของตำแหน่งมหาอุปราช หรือ องค์รัชทายาทมาหลายพระองค์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่บอกเล่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทยในครั้งอดีต ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นที่สถานที่เก็บรักษาศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกด้วย ภายนอกอาคารจัดแสดงยังมีโบราณสถาน คือ พระที่นั่ง และพระตำหนักบางองค์ที่เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง, พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 รวมไปถึงพระที่นั่งขนาดย่อมและศาลาทรงไทยในรูปแบบต่างๆ มีบริการนำชมเป็นหมู่คณะ บริการสื่อโสตทัศนศึกษา บริการห้องสมุด เวลาทำการ 9.00-16.00 น. ปิดทุกวันจันทร์และอังคาร
ฝั่งตรงข้ามจะเป็น ท้องสนามหลวง อยู่ทางด้านเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่สำคัญมาแต่เดิมของกรุงเทพฯ บริเวณนี้เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เพราะเคยเป็นสถานที่ตั้งพระเมรุพระราชทานเพลิงศพเจ้านายพระองค์ต่างๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าท้ องสนามหลวง สืบมาจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่รอบบริเวณสนามหลวงเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ศาลหลักเมือง กระทรวงกลาโหม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ อนุสาวรีย์ทหารอาสา (สงครามโลกครั้งที่ 1) ศาลแม่พระธรณี และกระทรวงยุติธรรม นอกจากนั้นสนามหลวงยังเป็น จุดเริ่มต้นของถนนราชดำเนิน และเชื่อมต่อด้วยถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งทอดผ่านด้านตะวันออกของท้องสนามหลวงไปยังพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นกลางและชั้นนอกเพื่อเชื่อมโยงไปยังพระราชวังดุสิต
จากนั้นมุ่งหน้าลงใต้ไปสู่จุดสำคัญอันถือว่าเป็นหัวใจของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า วัดพระแก้วมรกต นั่นเอง การเที่ยวชมที่นี่ต้องแต่งกายให้สุภาพ สิ่งแรกที่ควรทำคือการเข้าไปกราบสักการะพระแก้วมรกตก่อนเพื่อเป็นศิริมงคล จากนั้นจึงเดินชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีครบทั้ง 178 ตอน โดยให้เริ่มดูภาพตอนแรกที่หลังพระวิหารยอด งานจิตกรรมฝาผนังนี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงทำศึกกับพม่ามาหลายครั้ง จากนั้นไปชมหมู่อาคารพระที่นั่งองค์สำคัญต่างๆ ในเขตพระบรมมหาราชวัง
ออกจากพระบรมมหาราชวังลงมาทางทิศใต้อีกนิดก็จะพบ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลก พ.ศ. 2554 ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 99 องค์ วัดนี้ตามประวัติสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาแล้ว เดิมเรียกว่า “วัดโพธาราม” และได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน พ.ศ. 2331 โดยพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” มีฐานะเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่างๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐานไว้ตามศาลารายต่างๆ ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” สำหรับสิ่งที่น่าชมในวัดนั้นมีมากมาย แต่ที่เด่นๆ ได้แก่ วิหารพระพุทธไสยาส ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสก่ออิฐถือปูนปิดทองทั่วทั้งองค์ ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูมีลักษณะเป็นไทยประยุกต์แบบจีน โดยจะมีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละ 1 คู่ องค์พระเจดีย์เป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ โดยมีลักษณะขนาดและความสูงเหมือนกันทุกประการ ต่างเพียงสีกระเบื้องที่มาประดับเท่านั้น นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ ไว้ รวม 80 ท่า และเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ จารึกลงบนศิลาจารึก ประดับไว้ภายในบริเวณวัด และถ้าเดินชมจนเมื่อยก็สามารถแวะพักนวดแผนไทยในตำรับวัดโพธิ์อันโด่งดังระดับโลกได้ที่ศาลานวดทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถได้ ใกล้กันจะเป็น มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การรียยนรู้ ใครอยากรู้ถึงความเป็นไทยแท้ ชมสื่อการนำเสนอที่สร้างสรรค์และทันสมัยได้ที่นี่ครับ
และเมื่อออกจากวัดโพธิ์ให้เดินลงไปทางใต้อีกนิดก็จะพบกับ ปากคลองตลาด อันถือเป็นจุดสุดท้ายใต้สุดของเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ตลาดนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นตลาดขายดอกไม้สดที่ใหญ่มาก รวบรวมดอกไม้ทั้งในและต่างประเทศไว้นานาชนิด สีสันสวยงามตระการตา ติดอันดับ 4 จากการจัดอันดับ 10 ตลาดดอกไม้ทั่วโลก แถมยังเป็นตลาดกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย ปัจจุบันมีการวางสินค้าต่างๆ และแผงลอยกันอย่างหนาแน่น ไม่นับรวมตลาดใต้สะพานพุทธ ซึ่งขายเสื้อผ้า ของประดับ ของเล่น ของใช้อื่นๆ อีกมากมายในช่วงเวลากลางคืน (หยุดวันจันทร์) ในช่วงเย็นบริเวณลานหน้าพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจออกกำลังกายของผู้คนในย่านนี้อีกด้วย
จากนั้นเราก็วกกลับมาทางด้านตะวันออก โดยมุ่งหน้าไป วัดสุทัศนเทพวราราม จุดเด่นคือมีเสาชิงช้าโบราณขนาดสูงใหญ่อยู่หน้าวัด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐาน “พระศรีศากยมุนี” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนจึงเรียกกันว่า “วัดเสาชิงช้า” จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็มาสิ้นรัชกาลเสียก่อน จึงมาเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” จุดเด่นภายในวัด คือ มีพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้านในมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเฉพาะรูปเปรตวัดสุทัศน์ ภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี
เมื่อออกจากวัดสุทัศน์ให้มุ่งหน้าขึ้นเหนือทางตะวันออกสุดของเขตเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เราจะพบสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มจากโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับ ป้อมมหากาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สร้างขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 3 และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทแทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึง โพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียนให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ บริเวณนี้ถือเป็นบริเวณทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จึงมีการก่อสร้างเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่ประทับสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดยังมีกำแพงเมืองโบราณหลงเหลืออยู่ คือ ป้อมมหากาฬ มีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นป้อมประจำพระนครด้านตะวันออก
ห่างจากป้อมมหากาฬออกไปไม่ไกล คือ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) เป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค ตรงที่บรรจบกับคลองบางลำพู เดิมเป็นวัดเก่าชื่อ วัดสะแก ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 และพระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ” ส่วนเจดีย์ภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเลียนแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” สูง 77 เมตร บนยอดเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ โดยท่านสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของกรุงเทพมหานครได้แบบ 360 องศา ถือเป็นจุดไฮไลท์จุดหนึ่งของการชมเกาะรัตนโกสินทร์ (ปิดให้ขึ้นเวลา 17.00 น.) ในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี ทางวัดจะจัดงานประเพณี เรียกว่า “งานภูเขาทอง” ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าไปเดินเที่ยวงานอย่างหนาแน่น
ใกล้กันในบริเวณนี้ยังมี นิทรรศรัตนโกสินทร์ ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ รวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในการไปทำความรู้จัก ศึกษาและเรียนรู้ถึงรากเหง้าความเป็นมาเป็นไปของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยก่อนที่จะเป็นกรุงเทพมหานครอย่างเช่นทุกวันนี้
หากใครที่กำลังมองหาสถานที่เที่ยวสบายๆ ในเมืองกรุงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ลองลัดเลาะเลียบเกาะรัตนโกสินทร์นี้ดู จะพบว่าของที่เคยชินตา ถ้าพิจารณาดีๆ แล้ว ล้วนมีเรื่องราวอันทรงคุณค่าแอบซ่อนไว้ให้เราค้นหาและติดตามอย่างน่าประทับใจ…
การเดินทาง
โดยรถยนต์
กรุงเทพมหานครเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินสายหลักของประเทศไทย 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือ ถนนพหลโยธิน (สายเหนือ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท (สายตะวันออก) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือ ถนนเพชรเกษม (สายใต้) นักท่องเที่ยวจึงสามารถขับรถที่ต่างๆ มาสู่กรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก
โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ตามจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้ามายังจังหวัดกรุงเทพฯ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
28,504 total views, 2 views today