หนึ่งปีมีครั้งเดียว… งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี ซึ่งนับว่าเป็นงานประเพณีทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ตระการตา กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 15 ค่ำ เดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) และแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (วันเข้าพรรษา) ของทุกปี โดยในปีนี้ใช้ชื่องานว่า “113 ปี งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี 2557 และเฉลิมฉลอง 222 ปี อุบลราชธานี”
วันนี้คู่หูพาเที่ยวขอพาคุณผู้อ่านมาชมภาพเก็บตก งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2557 ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่งดงามอลังการ ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ มีผู้คนมาจากทั่วทุกสารทิศให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น โดยมีขบวนแห่ต้นเทียนกว่า 50 ขบวน จาก 25 อำเภอของจังหวัด 25 ชุมชนในเขตอำเภอเมือง และจากหน่วยงานราชการและเอกชนอีกกว่า 10 แห่ง
แรกเริ่มเดิมทีในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์นั้น จะเป็นการทำเทียนร่วมกันของชาวบ้านในแต่ละคุ้ม (คุ้ม คือ กลุ่มชุมชนเล็กๆ ของชุมชนใหญ่ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีหลายคุ้ม) โดยการนำขี้ผึ้งมารวมกัน ต้มให้ละลายแล้วเทใส่เบ้าหลอม ตกแต่งให้สวยงามแล้วใส่คานหามหรือบรรทุกใส่เกวียน นำเข้าขบวนแล้วแห่ไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑล เมื่อทุกคุ้มมารวมพร้อมกันแล้ว พระองค์จะประทานรางวัลให้กับคุ้มที่ทำต้นเทียนได้สวยงาม เสร็จแล้วจะให้จับฉลากว่าคุ้มไหนจะถวายเทียนวัดอะไร เมื่อรู้ว่าจะไปถวายวัดอะไรแล้วแต่ละคุ้มก็จะแห่แหนไปถวายวัดนั้น การแห่เทียนพรรษาจึงเริ่มมีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การทำเทียนพรรษาของชาวบ้านแต่ละคุ้มในระยะแรก จะเป็นเทียนที่สามารถจุดใช้งานได้จริง มีขนาดเท่ากับต้นไผ่ (เพราะใช้ต้นไผ่เป็นเบ้าหลอม) บางคุ้มก็จะเท่ากับต้นกล้วย แล้วแต่ว่าคุ้มไหนจะหาเบ้าหลอมและหาขี้ผึ้งได้มากน้อยแค่ไหน ผิวต้นเทียนจะเรียบมันไม่มีลวดลาย แต่จะแต่งต้นเทียนโดยใช้กระดาษสีตัดเป็นเส้นหรือเป็นลวดลาย แล้วนำมาพันรอบต้นเทียนหรือติดกับต้นเทียนเป็นกลุ่มลวดลายต่างๆ บางคุ้มก็จะใช้วิธีนำเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันให้เป็นเทียนต้นใหญ่ หรือบางครั้งประหยัดเงินค่าเทียนก็จะใช้ไม้กลมๆ หรือไม้เสาทำเป็นแกนแล้วนำเทียนมัดรอบแกนเสา ตกแต่งด้วยกระดาษเพื่อไม่ให้เห็นเชือกที่มัด เรียกว่า “เทียนโบราณ”
ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลฯ มีมานนานนับร้อยปี การทำเทียนจึงมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ เป็น “การติดพิมพ์” คือ การใช้ขี้ผึ้งหล่อลวดลายบนแม่พิมพ์ก่อน จากนั้นนำไปติดประดับตกแต่งบนต้นเทียน ทำให้ต้นเทียนมีลวดลายที่งดงามละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น และการทำเทียนโดยวิธีนี้จะต้องใช้คนช่วยเยอะ จึงนิยมทำกันที่วัด ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำเทียนด้วยกัน ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นงานบุญงานหนึ่งที่สำคัญของคนในชุมชนเลยก็ว่าได้
ต่อจากนั้นการทำเทียนก็พัฒนามาอีกเป็น “การแกะสลัก” เพื่อให้งานแห่เทียนมีความแตกต่างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น การทำต้นเทียนนั้นต้องใช้ช่างฝีมือพื้นบ้านที่มีความชำนาญสูง การแกะสลักจะใช้คนทำงานน้อยกว่าการติดพิมพ์ แต่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ปราณีต และความมีจินตนาการของช่างแกะสลักควบคู่กันไปด้วย ทำให้งานต้นเทียนที่ออกมาจะมีความวิจิตรบรรจง ละเอียดอ่อนช้อย และแฝงเรื่องราวทางพุทธศาสนาทำให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
โดยเส้นทางการแห่เทียนพรรษาจะเริ่มต้นที่วัดศรีอุบลรัตนาราม และเดินมาเวียนรอบบริเวณทุ่งศรีเมือง มีการแสดงฟ้อนรำพื้นบ้านนำขบวนต้นเทียน ในช่วงค่ำจะมีการประดับตกแต่งไฟแสงสีต่างๆ ที่ต้นเทียน และมีการบรรยายบอกเล่าถึงความเป็นมาของลวดลายขบวนแห่ต้นเทียนต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจถึงรายละเอียดความเป็นมาของแต่ละขบวนอีกด้วย ใกล้กันบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี ททท.ได้จัดแสดง เทศกาลศิลปะเทียนนานาชาติเมืองอุบล 2557 ชมงานประติมากรรมเทียนศิลปะร่วมสมัย โดยศิลปิน 13 ท่าน จาก 8 ประเทศ ซึ่งมีความสวยงามที่แตกต่างกันไป
หากนักท่องเที่ยวท่านใดพอมีเวลาว่างก่อนถึงวันงาน ทางจังหวัดจัดให้มีกิจกรรมการเปิดชุมชนคนทำเทียน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของครูช่างในการทำต้นเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมการทำเทียนพรรษาให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานสืบต่อไป อย่างเช่น ในเขตอำเภอเมืองก็จะมีชุมชนวัดผาสุการาม ชุมชนวัดไชยมงคล ชุมชนวัดทุ่งศรีเมือง ชุมชนวัดพลแพน ชุมชนวัดบูรพา ชุมชนวัดศรีประดู่ ชุมชนวัดมหาวนาราม ชุมชนวัดแจ้ง และชุมชนวัดหนองปลาปาก เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีคุ้มวัดในต่างอำเภออื่นๆ ก็เปิดให้เข้าเที่ยวชมได้เช่นกัน แต่ละแห่งก็จะมีการทำต้นเทียนที่แตกต่างกันไป ทั้งต้นเทียนโบราณ ต้นเทียนติดพิมพ์ และต้นเทียนแกะสลัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 045-243770
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจใกล้เคียง
วัดทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล สังฆปาโมก(สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่
ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีอาคารที่สำคัญอีกหลังหนึ่งคือ หอพระไตรปิฎก เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้มดปลวกไปกัดทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว กล่าวคือ ลักษณะอาคารเป็นแบบไทยเป็นเรือนฝาปะกน ขนาด 4 ห้อง
ภายในห้องที่เก็บตู้พระธรรมทุกด้านเขียนลงรักปิดทอง ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่าคือ มีช่อฟ้าใบระกา แต่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นแสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมายังศิลปะลาวล้านช้าง ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว ตรงส่วนฝาปะกนด้านล่างแกะเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่าง ๆ และลวดลายพันธุ์พฤกษาเป็นช่องโดยรอบ นับเป็นหอไตรที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง
วัดศรีอุบลรัตนาราม
อยู่ด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี บนถนนอุปราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2398 เดิมชื่อ “วัดศรีทอง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตร และยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม จึงได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจากวัดศรีทองเป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม” ตามนามขององค์อุปถัมภ์
วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของ “พระแก้วบุษราคัม” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง มีอายุกว่า 1,000 ปี โดยได้อัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัมทั้งองค์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวเมืองอุบลฯ จะจัดงานแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศได้นมัสการและสรงน้ำองค์ท่านด้วย
บ้านคำปุน
ตั้งอยู่ที่ ถ.ศรีสะเกษ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าชั้นดีแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ตัวบ้านคำปุนประกอบด้วย เรือนหมู่ทรงไทยสถาปัตยกรรมอีสานที่สวยงาม มีช่างทอผ้ามากกว่า 30 คน ผลิตผ้าไหมด้วยกี่ทอมือตามแบบโบราณ นับตั้งแต่การเตรียมเส้นไหม จนถึงการย้อม และทอ
ผ้าทอมือที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน คือ ผ้าไหมมัดหมี่ทอผสมเทคนิคจก ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นผ้าไหมแบบต่างๆ เช่น ผ้ามัดหมี่สอดเส้นพุ่งด้วยลูกปัดแก้ว หรือหินต่างๆ และเม็ดเงิน รวมทั้งผ้าทอยกทองแบบอุบลฯ นอกจากนี้ บ้านคำปุนยังเป็นผู้คิดค้น “ผ้ากาบบัว” ซึ่งถือว่าเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานีด้วย ชื่อ “กาบบัว” พบในวรรณกรรมอีสานของเมืองอุบลฯ มีความหมายเหมาะสมกับชื่อจังหวัด จึงได้นำมาเป็นชื่อผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัด ใช้เทคนิคการทอแบบผสมผสาน 4 ขั้นตอน ผลงานผ้าที่ออกมาแต่ละชิ้นจึงมีเอกลักษณ์ที่งดงาม ละเอียดอ่อนและวิจิตรบรรจงเป็นอย่างมาก
นอกจากการเดินชมดูขั้นตอนการทอผ้าจากช่างทอมือแล้ว ในตัวอาคารหลังกลางได้จัดเป็นนิทรรศการให้ความรู้ บอกเล่าความเป็นมาต่างๆ ของบ้านคำปุน พร้อมมีผ้าทอมือจำหน่าย สนนราคาตั้งแต่หกหลักเป็นต้นไป เพราะผ้าแต่ละชิ้นนอกจากจะใช้เวลาการทอที่นานแล้ว ยังต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความละเอียดอ่อนปราณีตในการทอทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ลวดลายที่งดงามตามแบบฉบับเฉพาะตัวอีกด้วย
บ้านคำปุนจะเปิดบ้านให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าชมนิทรรศการต่างๆ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี ระยะเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับวันหยุดของแต่ละปี สามารถโทรสอบถามรายละเอียดก่อนเข้าชมได้ที่ 045-424122
การเดินทาง
1.โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
– ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
– ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอสังขะ อำเภอเดชอุดม ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
2.โดยรถประจำทาง
มีรถโดยสารปรับอากาศ ของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-โขงเจียม ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกวัน ใช้เวลาเดิน ทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
ขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 045-243770
5,812 total views, 1 views today