นักเดินทางที่ได้พาตัวเองขึ้นไปเหยียบยืนอยู่เหนือยอด ‘เนินช้างศึก’ แห่งเหมืองปิล๊อกเป็นครั้งแรกนั้น มักคล้อยคิดไปในทำนองเดียวกันว่า.. “นี่เราไปอยู่ที่ไหนมา ถึงได้ผาดสายตาผ่านแหล่งท่องเที่ยวอันสุขสงบแสนงดงามแห่งนี้ไปได้”

บทบันทึกของนักนิยมธรรมชาติผู้หลงใหลในกลิ่นอายหมอก และภาพชวนฝันของระลอกเขา เทือกแล้ว.. ทิวเล่า.. หมุดหมายปลายทางของพวกเขาส่วนใหญ่มักไปปรากฏอยู่ตามดงดอยต่างๆ ในพื้นที่แถบภาคเหนืออันไกลโพ้น ที่กว่าจะไปถึงได้ในแต่ละคราวต้องอาศัยทั้งพลังกายและหัวจิตหัวใจมุ่งมั่นไป หากแต่ใครจะรู้.. ห่างจากเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ เพียงแค่สามร้อยกิโลฯ กว่าๆ ณ รอยต่อเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ยังมีดินแดนที่ว่าอีกแห่ง ซุกซ่อนตัวอยู่บนสันผากลางผืนป่ากาญจนบุรี ที่ที่ซึ่งลมหนาว.. ทะเลหมอก.. ท้องฟ้าสีครามเข้ม.. และกระแสลมยะเยือก.. สลับสับเปลี่ยนเวียนกันมาทักทายเหล่านักท่องธรรมชาติตลอดทั้ง 365 วัน

‘คู่หูเดินทาง’ ฉบับในอ้อมกอดของเหมันต์ ปรารถนาจะพาเพื่อนของเราข้ามทะเลเขาไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ กลางพงพนา ผ่านอดีตอันโชติช่วงของนครแห่งเหมืองแร่นามว่า ‘ปิล๊อก’

เล่ากันว่า.. ‘ปิล๊อก’ เพี้ยนเสียงมาจากสมญานามอันน่าขนลุกว่า “เหมืองผีหลอก” สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ปราบปรามกรรมกรชาวพม่า ภายหลังจากที่กรมโลหะกิจ องค์การเหมืองแร่ ของรัฐบาลไทย ได้ประกาศจัดตั้งเหมืองแร่แห่งแรกขึ้นที่บริเวณบ้านอีต่อง (ประมาณ พ.ศ. 2483) เนื่องด้วยขณะนั้น ทางการไทยไม่ยินยอมให้กรรมกรชาวพม่าแอบเข้ามาลักลอบขุดสารแร่ต่างๆ ซึ่งพบมากมายในพื้นที่ เอาไปขายให้กับฝ่ายอังกฤษ อันเป็นผลให้ภายหลังการปราบปรามมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กิตติศัพท์ของความเป็นเหมืองผีหลอกจึงถูกเล่าขานสืบเนื่องติดต่อกันมา กอปรกับการออกเสียงเรียกที่ผิดเพี้ยนไปของแรงงานชาวพม่า จนกลายมาเป็นชื่อ ‘เหมืองปิล๊อก’ ดังเช่นทุกวันนี้

ในยุครุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ภายหลังองค์การเหมืองแร่ได้เปิดให้สัมปทานบัตรแก่เอกชนทั่วไป ว่ากันว่าธุรกิจเหมืองแร่ในปิล๊อกผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งเล็กใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50-60 เหมือง ไม่นับรวมกับเหมืองเถื่อน เหมืองลอยประเภทที่ชาวบ้าน กรรมกร ลักลอบขุดนำไปขายกันเอง จึงไม่แปลกที่ยุคสมัยนั้น ปิล๊อกได้พัฒนาตัวเองจนแทบกลายเป็นลาสเวกัสเมืองไทย ผู้คนต่างเล่าลือกันว่าที่นี่คือแหล่งขุดทองของนักแสวงโชคทั่วทุกสารทิศ

“ใครใคร่ทำเหมือง-ทำ.. ทำค้าขาย-ทำ.. ทำโรงหนัง-ทำ.. ทำบ่อน-ทำ.. ทำซ่อง-ทำ” หนึ่งในคาวบอยนักแสวงโชคยุครุ่งเรืองแห่งเหมืองปิล๊อกคนหนึ่งกล่าว

และหากใครยังจินตนาการไปไม่ถึงว่าสวรรค์กลางบ้านป่าในช่วงจังหวะที่เจริญสุดขีดนั้นจะเจริญแค่ไหน ลองหลับตานึกดูว่า.. ครั้งหนึ่ง กลางดงดิบแห่งนี้ เคยมีรันเวย์ไว้คอยท่าเครื่องบินเล็กให้ร่อนขึ้นวิ่งลง นั่น.. ขนาดนั้นเลยเชียว!

หากแต่ความแน่นอนล้วนแล้วเป็นสิ่ง ‘อนิจจัง’ เมื่อปิล๊อกพาตัวเองทะยานถึงขีดสุดของยุคเหมืองแร่ ไม่นานนัก.. อุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งที่สุดชนิดหนึ่งของโลกก็ร่วงผลอยลงอย่างไม่เป็นท่า ภายหลังวิกฤตราคาแร่ตกต่ำอย่างรุนแรง ตามซ้ำมาด้วยการล่มสลายของ ‘สภาเหมืองแร่โลก’ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2527 แม้เหมืองปิล๊อกจะตั้งอยู่ไกลแสนไกลจากสำนักงานสภาเหมืองแร่โลกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ก็หาได้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ปิล๊อกซุกซ่อนตัวเองอยู่กลางขุนเขาอย่างเงียบเชียบในฐานะตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่งของอำเภอทองผาภูมิ พื้นที่ส่วนหนึ่งประชิดกับเขตความมั่นคงตามแนวชายแดน ในขณะที่อีกส่วนอิงแอบอยู่กับเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พื้นที่อนุรักษ์สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียผืนเดียวกับ ‘กลุ่มป่าตะวันตก’ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนชื่อของเหมืองปิล๊อกถูกหยิบยกกลับมาเล่าขานในอดีตอันยิ่งใหญ่หนาหูขึ้นอีกครั้ง ทว่า ครั้งนี้หาใช่เป็นเสียงจากพวกร่อนแร่หรือนักขุดทอง ปิล๊อกในบริบทใหม่กำลังถูกกลุ่มนักนิยมธรรมชาติ นักท่องเที่ยว รวมไปถึงนักผจญภัย กล่าวขวัญถึงแง่ง่ามความมหัศจรรย์ของสถานที่ ความสุขสงบในวิถีผู้คน และธรรมชาติอันแสนงดงาม

เหมืองสมศักดิ์บ้านอีต่องเนินช้างศึกน้ำตกจ๊อกกระดิ่น

อัญมณีแห่งสายแร่เม็ดใหม่ของปิล็อก” 

เหมืองสมศักดิ์ป้าเกลนตำนานรักชั่วฟ้าดินสลาย

แม้อดีตปิล๊อกจะดาษดื่นไปด้วยขุมเหมืองจำนวนนับสิบนับร้อย แต่คงไม่ผิดนักหากวันนี้ทั้งผู้มาเยือนและชาวชนแห่งปิล๊อกจะยกให้เหมืองสมศักดิ์เป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ชาวเหมือง’ ตำนานคนผู้เคยรุ่งเรืองในอดีต และเหมืองสมศักดิ์ในวันนี้จะมีลมหายใจอยู่ไม่ได้ หากขาดไร้ไปด้วยหัวใจรักอันยิ่งใหญ่ของเธอผู้ชื่อ เกลนนิส เจอร์เมน ไวท์ เสตะพันธ์ หรือ ‘ป้าเกลน’ (ป้าแหม่ม) ภรรยาชาวออสเตรเลียของ ‘สมศักดิ์ เสตะพันธ์’ ผู้บุกเบิกขุมเหมืองอันยิ่งใหญ่แห่งนี้

แม้ความตายจะพรากทั้งสองจากกัน แต่นั่นก็มิอาจขีดกั้นความรักและความผูกพันที่คนทั้งสองเคยมอบแก่กันให้สะดุดหยุดอยู่ลงเพียงแค่นั้น ภายหลังธุรกิจเหมืองแร่ของสมศักดิ์จำต้องปิดตัวลงเพราะพิษวิกฤตราคาสินแร่ ชายผู้เป็นเจ้าของเหมืองก็ทรุดป่วยและจากเธอไปก่อนวัยอันควร แม้ช่วงเวลาอันแสนเศร้านี้จะล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว หากแต่ป้าเกลน หญิงสาวผู้เป็นที่รักของชาวเหมืองก็ยังคงเลือกที่จะยังดำเนินชีวิตอยู่ต่อไป พร้อมทั้งทำทุกวิถีทางเพื่อจะรักษาเหมืองอันเป็นที่รักของสามีให้ดำรงอยู่เช่นอดีต แม้จะมิใช่ในภารกิจเดิม ผู้คนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า.. อะไรคือแรงขับอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้หญิงชราจากดินแดนอันแสนไกลวัยล่วง 70 ปีผู้นี้ ยืนหยัดถนอมสิ่งที่เธอรักนี้ไว้ได้โดยลำพัง

“ความรักคือสิ่งเดียวในชีวิตที่ไม่มีวันซื้อหาด้วยเงินได้การได้รักเขามันคือรางวัลที่มีค่าตลอดชีวิตของเราทุกวันที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้ารู้สึกเหมือนเราได้รับของขวัญมีค่าในทุกๆวัน” บางซอกประโยคจากหัวใจของป้าเกลนเมื่อครั้งบันทึกรายการคนค้นฅนตอน ‘อยู่เพื่อรัก’ (ออกอากาศ 7 กุมภาพันธ์ 2549) ทุกวันนี้บ้านป้าเกลน-เหมืองสมศักดิ์ได้ผันตัวกลายเป็นจุดหมายของนักเดินทางหลายคนมุ่งมั่นฝ่าการเดินทางอันแสนลำบากเพียงเพื่อมาสำผัสเรือนไม้หลังเก่าตามตำนานเหมืองที่ซึ่งบางส่วนได้ถูกพัฒนาให้เป็นที่พักเงียบง่ายในท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยปรารถนาจะลิ้มชิมฝีมือการอบขนมเค้กสูตรเฉพาะอันเลื่องลือของป้าเกลนแม้เพียงสักครั้งหากคุณเป็นนักท่องเที่ยวประเภทที่นิยมการแสวงหา ‘บางสิ่งบางอย่าง’ เพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตเมื่อมีโอกาสมาเยือนปิล๊อกก็คงไม่มีเหตุผลใดที่คุณจะทำให้ตัวเองพลาดในการเดินทางมาสัมผัสบ้านเหมืองกลางป่าของป้าเกลนแห่งนี้ดูสักครั้งแต่ทว่าครั้งนี้ที่ทางทีมงานไปไม่เจอป้าเกลนเพราะเป็นวันที่ป้าเกลนออกไปจ่ายตลาดพอดีเลยได้พูดคุยกับคุณชาลีผู้จัดการของที่นี่แทนคุณชาลีได้เล่าถึงเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยอดีตที่เคยเป็นคนใกล้ชิดกับคุณสมศักดิ์ดูแลลูกน้องในเหมือง 500-600 คนย้อนวันวานให้เราได้นึกภาพตามอย่างออกรสวันนี้เราแวะมาทานอาหารกลางวันที่เหมืองสมศักดิ์โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 200 บาทมีข้าวผัดและเกาเหลาลูกชิ้นหมูซึ่งเราสามารถเติมได้เรื่อยๆหากไม่อิ่มโดยมีเค้กแสนอร่อยรสส้มรสแครอทรสช็อคโกแลตรสผสมไม้รวมและรสกล้วยน้ำว้าให้เราได้เลือกกินแบบไม่จำกัดอีกด้วยหนทางเข้าไปที่เหมืองค่อนข้างสาหัสต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้นมีบริการที่พักแบบเรียบง่ายเป็นกันเองร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์บรรยากาศดีสามารถติดต่อซื้อแพ็คเกจที่พักได้ที่คุณชาลีโทร.08-1325-9471, 08-7019-1708 (หากไม่มีสัญญาณให้ฝากข้อความไว้) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักควรโทรเข้ามาสอบถามก่อนเพราะช่วงนี้อากาศดีที่พักอาจเต็มได้

หากว่าเหมืองสมศักดิ์เป็นตัวแทนของการมีตัวตนอยู่ในยุคอุตสาหกรรมเหมืองแห่งปิล๊อก ก็ย่อมหมายเอาได้ว่าหมู่บ้านเล็กๆ ประชิดแนวชายแดนที่ชื่ออีต่อง แห่งนี้ คือประจักษ์พยานชิ้นสำคัญอันสำแดงได้ถึงความรุ่งโรจน์ผ่านยุคผ่านสมัยเดียวกัน

ปัจจุบันอีต่องถือเป็น 1 ใน 4 หมู่บ้าน ขึ้นตรงกับตำบลปิล๊อก ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเลสักในราว 800 เมตร ทอดตัวไกลออกมาจากอำเภอทองผาภูมิประมาณ 75 กิโลเมตร

นัยว่าชื่ออีต่องนั้น น่าจะเป็นคำที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า ‘ณัตเอ็งต่อง’ ในภาษาพม่า อันหมายถึง “หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนภูเขาเทวดา” ในยุครุ่งเรือง บ้านอีต่องถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมความเจริญทางด้านวัตถุอย่างเต็มกระเบียด คนเหมืองรุ่นเก่าๆ บางคนว่า.. “ที่นี่มีทุกอย่าง เท่าที่เงินจะซื้อหามาได้ อาหาร เสื้อผ้า เหล้า ยารักษาโรค โรงหนัง ไม่เว้นแม้กระทั่งซ่องหรือบ่อน!?!”

ทว่า ทุกวันนี้ บรรยากาศร้านรวงที่กล่าวถึงได้กลายเป็นอดีตไปหมดสิ้นแล้ว เหลือทิ้งไว้เพียงลมหายใจอันสุขสงบของคนงานเหมืองล่วงวัยชราที่ผันไปยึดอาชีพรับจ้างปลูกป่าบ้าง เป็นลูกหาบนำทางขึ้นเขาช้างเผือกบ้าง ทำงานในอุทยานฯ ในโรงงานแยกก๊าซท้ายหมู่บ้านบ้าง ร่อยรอยความเจริญทางวัตถุที่นักท่องเที่ยวพอจะสืบหาเอาเป็นกลิ่นอายแห่งอดีตให้พอชุ่มชื่นใจได้บ้าง คือ อาคารบ้านเรือนเก่าในตัวตลาดอีต่อง โรงหนังเก่า (ปัจจุบันถูกดัดแปลงสภาพเป็นร้านค้าไปแล้ว) สะพานเหมือง และหัวฉีดแร่เก่าบริเวณด้านหน้าหมู่บ้าน

นอกจากนี้ บริเวณรอบหมู่บ้านยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีก คือ พระธาตุ วัดเหมืองปิล๊อก ที่มีกลุ่มพระธาตุเจดีย์สีทองอร่ามประดิษฐานเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบได้เกือบ 360 องศา อาทิ เนินช้างศึก เนินเสาธง เขาช้างเผือก และตัวตลาดอีต่อง

เนินเสาธง และ จุดประสานสัมพันธ์ไมตรีฯ ไทยเมียนมาร์ อันเป็นจุดที่ทางการไทยและพม่าได้ปักธงชาติของทั้งสองประเทศร่วมกันไว้ ณ จุดเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

บ้านอีต่องยังมีกิจกรรมน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทนักชิมให้ลิ้มลองเมนูเด็ดของที่นี่ ซึ่งน่าจะสร้างความประหลาดใจให้กับหลายหลายคนได้เลยทีเดียว นั่นก็คือรายการ “กินปู ดูทะเลหมอก” โดยปูที่ว่านี้เป็น ปูทะเลเป็นๆ สดๆ ที่นำมาจากชายทะเลฝั่งอันดามันของประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 60 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น (ผ่านการขนส่งมาจากหลายเส้นทาง) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอาจต้องสอบถามกับทางร้านอาหารในตลาดอีต่องล่วงหน้าเสียก่อนว่าวันนั้นมีปูหรือกุ้งทะเลจำหน่ายหรือเปล่า หากโชคดีได้ของทะเลสดๆ ไปปิ้งย่างรับประทานคลายหนาวไปพลาง.. ชมทะเลหมอกไปพลาง.. ก็นับว่าสุขสราญใจไม่รู้ลืม

เนินช้างศึกหรือ ฐานช้างศึก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,053 เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดน ร้อย ตชด.135 ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงตามแนวตะเข็บชายแดนบริเวณดังกล่าว แต่เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์มีความสงบมากขึ้น ทางเจ้าหน้าที่จึงเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมและพักกางเต็นท์ได้ในบริเวณที่จัดไว้ให้ โดยต้องเตรียมอาหารและน้ำดื่มไปเอง จุดชมวิวเนินช้างศึก หรือที่ชาวปิล๊อกคุ้นปากกว่าในชื่อ ‘ยอดดอยปิล๊อก’ และบ้างเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ‘ต่องปะแล’ แห่งนี้นั้น ถือเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของอำเภอทองผาภูมิและจังหวัดกาญจนบุรีเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในวันที่ท้องฟ้าเปิดอากาศแจ่มใส นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ไปได้ไกลถึงชายทะเลอันดามัน ฝั่งอ่าวเมาะตะมะของประเทศพม่า ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ ลับไปตามเหลี่ยมเขาที่ซ้อนตัวเป็นระลอกคลื่นอย่างสวยงามน่าประทับใจ และในยามเช้าดวงอาทิตย์ของวันใหม่ก็จะค่อยๆ โผล่พ้นแนวผาด้านฝั่งเขาช้างเผือกซึ่งก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน

คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายังจุดชมวิวเนินช้างศึก คือ ควรให้ความเคารพต่อสถานที่เนื่องจากเป็นพื้นที่ความมั่นคง ตลอดจนเชื่อฟังคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเองและผู้อื่น พร้อมทั้งพยายามช่วยกันรักษาความสะอาดพื้นที่ที่ใช้ รวมไปถึงห้องน้ำของฐานฯ เพื่อลดภาระแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ ตชด. ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกทางด้านการท่องเที่ยวโดยตรง

น้ำตกจ๊อกกระดิ่น อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตัวน้ำตกมีจำนวน 2 ชั้น คือ

จ๊อกกระดิ่นล่าง อยู่ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ การเดินทางสมบุกสมบัน ต้องติดต่อ จนท.อุทยานฯ ล่วงหน้า เพื่อนำทาง

จ๊อกกระดิ่นบน นักท่องเที่ยวสามารถขับรถ (4WD) ลงเขาไปจอดที่ลานจอดรถของอุทยานฯ ได้เลย (ยกเว้นช่วงฤดูฝน ต้องสอบถาม จนท. เพื่อความปลอดภัย) จากนั้นเดินเลาะไปตามเส้นทางปูนอีกประมาณ 200 เมตร น้ำตกจ๊อกกระดิ่น-บน ถือเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ตัวน้ำตกทิ้งสายลงมาจากความสูงกว่า 50 เมตร มีน้ำไหลให้ชมตลอดทั้งปี จุดเด่นของน้ำตกแห่งนี้คือ แอ่งน้ำเบื้องล่างมีสีเขียวใสดั่งมรกต สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับใครที่ชอบสัมผัสกับธรรมชาติแบบใกล้ชิดเราขอแนะนำให้ไปกางเต้นท์นอนที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิหรือจะเลือกนอนบ้านพักของอุทยานฯก็ได้คุณจะได้เห็นทะเลดาวเต็มฟ้ารับรู้ได้ถึงแสงสว่างของดวงจันทร์ในคืนเดือนมืดมีจุดที่พักกางเต้นท์อยู่ 2 ฝั่งคือจุดชมวิวเนินช้างเผือกและจุดชมวิวเนินกูดดอยฝั่งนี้ลมจะค่อนข้างแรงสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมและถ้าวันไหนโชคดีคุณก็จะได้เห็นพระเอกของอุทยานฯนั่นคือ “นกเงือก” นั่นเองและจากจุดนี้เราก็สามารถเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆได้สะดวกครับโดยอาจจะแวะไปที่น้ำตกจ๊อกกระดิ่นแล้วไปทานมื้อเที่ยงที่เหมืองสมศักดิ์แล้วเข้าหมู่บ้านไปกราบสักการะพระธาตุที่วัดเหมืองปิล๊อกเลยไปถ่ายภาพที่ระลึกที่ผาชูธงแวะชมจุดขุดเจาะเหมืองในสมัยอดีตจบท้ายวันด้วยบรรยากาศสุดแสโรแมนติกชมพระอาทิตย์ตกดินบนยอดเนินช้างศึกแล้วเข้าพักที่ในหมู่บ้านสักหนึ่งคืนเพื่อจะได้เห็นบรรยากาศยามเช้าวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านรวมถึงการลองชิมขนมจีนน้ำยาพม่าที่เป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ดูนะครับ

 

การเดินทาง (กาญจนบุรีสู่เหมืองปิล๊อก)

•   โดยรถยนต์

> จากตัวเมืองกาญจน์ มุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน จากนั้นวิ่งไปตามเส้นทางสายกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323) ระยะทางประมาณ 146 กม. ผ่านน้ำตกไทรโยคน้อย ช่องเขาขาด และอุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ ไปจนถึงสามแยกไฟแดงก่อนเข้าอำเภอทองผาภูมิ ให้ขับตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 3272 (หากเลี้ยวขวาจะไป ทางอำเภอสังขละบุรี)

> จากตัวอำเภอทองผาภูมิ วิ่งตรงไปยังเส้นทางเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) มุ่งหน้าไปทางบ้านไร่ ก่อนแยกซ้ายวิ่งไปตามเส้นทางขึ้นเขาแบบสวนเลน อีกประมาณ 30 กม. (เส้นทาง 399 โค้ง) ผ่านจุดชมทิวทัศน์ กม. 15 ผ่านที่ทำการอุทยานฯทองผาภูมิ ผ่านตัวตำบลปิล๊อก และสุดปลายทางที่บ้านอีต่อง

หมายเหตุ..  รถยนต์ใช้ก๊าซ ควรเติมให้เต็มถังก่อนขึ้นเขา (ปั๊ม LPG สุดท้ายอยู่ขวามือก่อนถึงทางเข้าน้ำตกผาตาด)

•   เดินทางโดยรถสารประจำทาง 

> ที่สถานีขนส่งตัวเมืองกาญจน์ มีรถประจำทางสายทองผาภูมิ – สังขละบุรี รถออกทุก 40 นาที ระหว่าง 6.00 – 18.20 น.

> มีรถสองแถววิ่งขึ้น – ล่อง ระหว่างตลาดทองผาภูมิและบ้านอีต่อง (ท่ารถอยู่ในตัวตลาด) โดยแต่ละวันมีรถวิ่งบริการเพียง 3 คันเท่านั้น เที่ยวแรกออก 10.30 น. เที่ยวสุดท้าย 12.00 น. ส่วนขากลับ รถออกจากบ้านอีต่องลงมาทองผาภูมิ มี 2-3 คันเช่นกันแล้วแต่ปริมาณผู้โดยสาร รถเที่ยวสุดท้ายหมดประมาณ 08.00 น. (โปรดเช็คเวลาที่ท่ารถอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง) ทั้งนี้หากไม่สะดวกเรื่องเวลา แนะนำให้ถามราคาเหมารถสองแถวในตลาดให้ขึ้นไปส่งที่บ้านอีต่อง มีรถคอยให้บริการอยู่)

•   อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โทร.08 1382 0359, 034-532114

 

 12,942 total views,  1 views today

Comments

Share.

Leave A Reply

Exit mobile version