เมื่อฉบับที่แล้วเราได้พาคุณผู้อ่านไปเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมต่างๆ ในสมัยล้านนา ความงดงามของวัดวาอารามและพิพิธภัณฑ์ฯ ในตัวเมืองน่าน ซึ่งยังคงมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนไม่เสื่อมคลาย วันนี้เรามีอีกหนึ่งอำเภอที่จะมาแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักนั่นคือ “อำเภอเวียงสา” เมืองหน้าด่านที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวก่อนจะผ่านเข้าไปสู่อำเภอเมือง

อำเภอเวียงสาตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน 25 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน มีแหล่งท่องเที่ยวในแบบศิลปะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ค่อนข้างยังบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตผู้คน การค้า อาหาร วัดวาอาราม และธรรมชาติทุ่งนาป่าไม้พืชพรรณอันหลากหลายใบเขียวเต็มเทือกเขายาวไกล มากมายไปด้วยชนเผ่าโบราณอันหายากจนเรียกได้ว่าเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ที่ยังคงดำรงชีวิตเป็นกลุ่มสังคมเล็กๆ อันบริสุทธิ์จนเกือบปราศจากวิถีชีวิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เราติดตามดูและศึกษาได้อยู่ในเขตอำเภอเวียงสานี้เอง

เมื่อมาถึงเวียงสาแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ การไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลกันก่อน วัดที่ต้องไปเพื่อให้ได้รับบุญอันยั่งยืน ก็คือ วัดบุญยืน ซึ่งนอกจากไหว้พระแล้ว ยังจะได้ชมศิลปะของสถาปัตยกรรมที่งดงามแบบเมืองเหนือ ชมลายปูนปั้นแต่งลวดลายสีสัน ซึ่งดูดีๆ แล้วค่อนข้างคล้ายภาพกราฟฟิกสมัยใหม่อย่างน่าประหลาด การเล่นสีที่ดูว่าเยอะแต่พอมารวมๆ กันแล้วก็กลับลงตัวดูสวยงามคลาสสิคไปอีกแบบ มีมุมให้ถ่ายรูปเยอะ วัดนี้เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 31 ม.4 บ้านกลางเวียง ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นวัดประจำอำเภอเวียงสา มีความสำคัญต่อความมั่นคงของจังหวัดน่านมาแต่โบราณ เพราะทุกครั้งที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ หรือเกิดภัยธรรมชาติในเมืองน่านคราใด เจ้าผู้ครองนครน่านและประชาชนจะประกอบพิธีบวงสรวงสักการะพระธาตุเจดีย์วัดบุญยืน เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจต่อสู้กับภัยพิบัตินั้นๆ และในสมัยที่ยังมีเจ้าผู้ครองนครน่านนั้น ได้มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระวิหารต่อหน้าพระพุทธปฏิมาปางประทับยืน องค์พระประธานโดยตลอดมา ตามประวัติวัดบุญยืน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2329 โดย พระยาเวียงป้อ ได้สร้างสำนักสงฆ์เล็กๆ ประทานนามว่า วัดบุญนะ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดสด ของวัด และอาคารพาณิชย์) ครั้นต่อมาในรัชสมัยของ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้เสด็จประพาสเวียงสา ทรงเห็นว่าวัดบุญนะคับแคบ ไม่อาจขยายให้กว้างขวางได้ จึงให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ทางด้านทิศเหนือบนฝั่งขวาของลำน้ำน่าน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 อันเป็นบริเวณที่มีป่าไม้สักที่สมบูรณ์ จึงใช้ไม้สักสร้างวิหาร กุฎิสงฆ์ รวมถึงศาสนวัตถุอื่นๆ และได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดป่าสักงาม” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2343 ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระวิหาร และสร้างพระพุทธรูปประธานในวิหารปางประทับยืน ขนาดสูง 8 ศอก (4 เมตร) จึงเปลี่ยนชื่อเรียกจาก “วัดป่าสักงาม” เป็น “วัดบุญยืน” ตามลักษณะพระพุทธธูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทุกปีในช่วงออกพรรษา วัดบุญยืนยังจัดให้มีการแข่งเรือยาวประเพณีตานก๋วยสลาก โดยเน้นให้เป็นเรือที่มีเอกลักษณ์ของเรือแข่งเมืองน่าน ที่มีโขนเรือเป็นไม้แกะสลักรูปหัวพญานาค และส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นศิลปะลวดลายเอกลักษณ์เมืองน่านอันจะหาชมไม่ได้ในที่อื่นๆ การจัดแข่งเรือประเพณีนี้ ยังได้พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ ซึ่งยังความปลาบปลื้มใจให้กับชาวน่านอีกด้วย

ฝั่งตรงข้ามของวัดมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ชาวน่านต่างจดจำตราตรึงซึ้งใจมาจนทุกวันนี้ ในฐานะ อนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน ที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2501 โดยได้มาประทับให้ประชาชนชาวน่านเข้าเฝ้าชมพระบารมีที่หน้ามุขของอาคารที่ว่าการอำเภอเวียงสาในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นที่ทำการเทศบาลตำบลเวียงสา และในส่วนของชั้นบนถูกจัดให้เป็น พิพิธภัณฑ์เทศบาลตำบลเวียงสา อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นที่ทำการอำเภอเวียงสาตลอดมา ปัจจุบัน นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา ได้ปรับปรุงอาคารให้ชั้นล่างเป็นที่ว่าการเทศบาลตำบลเวียงสา และชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงศิลปะล้านนา เช่น ประวัติเจ้าหลวงเมืองสา ข้าวของเครื่องใช้โบราณในท้องถิ่นที่หาชมยาก ข้อมูลชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยุ่ตามป่าเขาในเขตเวียงสา และอนุสรณ์สถานที่ประทับรับรองการเสด็จมาเยือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เช่น การประกวดดนตรีโฟล์คซองคำเมือง สะล้อ ซอ ปิน เขียนตั๋วเมือง โชว์พระเครื่อง ฟ้อนต่างๆ จำหน่ายสินค้าโอท็อป แข่งกีฬา ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม ทุกปีด้วย

ไม่ไกลจากจุดนี้มากนัก คุณผู้อ่านนักปั่นทั้งหลายสามารถแวะไปเยี่ยมชม เฮือนรถถีบ หรือ พิพิธภัณฑ์จักรยาน ตั้งอยู่ภายในปั๊มน้ำมันเชลล์ ถ.เจ้าฟ้า อ.เวียงสา จ.น่าน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ถึงพัฒนาการของรถจักรยานในยุคสมัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ประวัติของเฮือนรถถีบนี้มีอยู่ว่า ครอบครัวเต็งไตรรัตน์ ซึ่งย้ายจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ โดยเริ่มรับจ้างซ่อมจักรยาน และต่อมาเป็นตัวแทนขายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ กาเซีย โรบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัทสัน ฯลฯ การขนส่งรถจักรยานจากกรุงเทพมาเมืองน่านในสมัยก่อนจะมาแบบเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วต้องมาประกอบเป็นคันที่ปลายทาง ร้านเต็งไตรรัตน์ จึงผ่านประสบการณ์นี้มาจนเป็นผู้ชำนาญการด้านนี้ไปโดยปริยาย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จักรยานได้รับความนิยมน้อยลง ครอบครัวไตรรัตน์จึงหันมาขายจักรยานยนต์แทน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชลล์อย่างในปัจจุบัน

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดน่าน เมื่อน้ำลดแล้ว ในขณะที่ทำความสะอาดบ้านก็พบ  ชิ้นส่วนจักรยานที่ถูกเก็บไว้นานปีจนลืมเลือนว่ายังมีสภาพดีหลงเหลืออยู่อย่างมากมาย ทำให้รำลึกถึงอดีตที่สามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ก็เพราะจักรยานเหล่านี้ คุณสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ จึงใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านหลังปั๊มน้ำมันจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จักรยานโบราณในชื่อ เฮือนรถถีบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลัง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดง จักรยานที่คุณสุพจน์สะสมไว้ ตั้งแต่รุ่นเก่าแก่ที่สุดซึ่งยังคงสภาพใช้งานได้ อย่างเช่น จักรยานที่ไม่มีโซ่ Hochrad 1880 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 จักรยานพับได้รุ่นแรกๆ ที่ทหารอังกฤษใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรยานที่มีแฮนด์ทำจากหวาย เบาะนั่งเป็นไม้ ไปจนถึงแบบที่มีโช้ค ใช้เทียนไขเป็นหลอดไฟ เรื่อยลงมาถึงรุ่นที่หลายคนยังพอทันได้เห็นเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน นอกจากจะเสาะหาจักรยานโบราณมาสะสมไว้แล้ว เฮือนรถถีบวันนี้ยังเป็นตัวแทนในการจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวขี่จักรยานชมเมืองเวียงสาด้วย เพื่อชมวิถีชีวิตผู้คนที่สงบเงียบเรียบง่าย โดยเส้นทางปั่นจักรยาน เริ่มต้นที่เฮือนรถถีบ มุ่งหน้าไปยังชุมชนบ้านดอนไชย เฮือนกะหล๊ก วัดบุญยืน อาคารประวัติศาสตร์ พระพุทธรูปไม้ รวมทั้งผ่านวิถีชีวิตเกษตรกรรมก่อนจะวนกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
สนใจเยี่ยมชมเฮือนรถถีบหรือถีบจักรยานโบราณเที่ยวชมเมืองเวียงสา โทร.0 5478 1359 หรือสอบถามกลุ่มฮักเมืองเวียงสา โทร.08 9020 2309, 08 5864 8920

มาถึงแหล่งชิลที่แสนน่ารักของเวียงสา ร้านจ๊างน่านมิลค์คลับ ที่แห่งนี้น่าจะนับว่าเป็นคอมเพล็กเซ็นเตอร์เล็กๆ ของเมืองนี้เลยก็ว่าได้ ร้านตกแต่งเป็นแนวสไตล์เรโทรอาร์ตเปิดขายนมปรุงรส และกาแฟสดคัดสรร พร้อมเสื้อที่ระลึก มีการนำเอารถเมล์เก่าที่เลิกใช้แล้ว ซึ่งเป็นกิจการเดิมของครอบครัว มาประยุกต์ทำเป็นห้องอาหาร สำหรับนมสดแก้วเด่นที่เป็นดาวเด่นของทางร้านนั้นก็คือ กรีนทีจ๊างน้าน ชาเขียวนมสดรสเลิศที่ขายดีที่สุดตลอดกาล และ อินดี้แอนด์เซอร์ ที่ปรุงอย่างเข้มข้นสุดๆ อย่างพิถีพิถันจากกาแฟน่านคลีนออร์แกนิคที่ปลูกบนยอดเขาสูง 1600 เมตร เพื่ออากาศบริสุทธิ์ปราศจากสารเคมี ผ่านการรับรางวัลจากงานพืชสวนโลกนานาชาติมาแล้ว ทั้งนมสดและกาแฟ ทานกับ ไทยแลนด์ฮันนี่โทส์ท ขนมปังปิ้งกรอบนอกนุ่มใน ราดน้ำผึ้ง โปะไอศครีมวานิลา วิปครีม โรยน้ำตาลกรวด เพื่อเสริมให้เครื่องดื่มเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ ได้อย่างลงตัวขึ้น แต่หากมองหามื้อหลักหนักขึ้น ก็ต้องลอง ก๋วยจั๊บญวนใจ ที่ใช้เส้นสด หมูยอสด ส่งตรงมาจากอุบลราชธานีทุกๆ เช้าชามนี้มีหมูบดปรุงรส เลือดหมู โรยหอมเจียว จัดเป็นชามหลักของร้านที่ต้องลองเช่นกัน ตบท้ายด้วยของหวาน รักล้นใจ นมสดต้มปรุงรสด้วยสูตรพิเศษของทางร้านแล้วนำมาปั่น โรยขนมปังราดช็อคโกแลทไซรับและสตอเบอรี่ไซรับ โรยทับด้วยลูกเกดอีกที มื้อนี้คงทำให้คุณไม่ลืมเวียงสาไปอีกนาน ร้านตั้งอยู่ที่  294 ม.3 ถ.เจ้าฟ้า ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน 55110 เปิดทุกวัน เวลา 8.00 – 20.00 น. หากใครไปไม่ถูกก็สามารถสอบถามเส้นทางได้ที่โทร.08 9898 4404, 0 5478 1521

ก่อนกลับอย่างลืมแวะซื้อของฝากผ้าทอเมืองน่านคุณภาพติดไม้ติดมือที่ วราภรณ์ผ้าทอ ซึ่งเป็นร้านผ้าที่อยู่คู่เมืองเวียงสามายาวนาน โดย คุณสมพิศ เทพศิริ เจ้าของร้านเล่าว่า การทอผ้าในหมู่บ้านมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งในสมัยก่อนจะปลูกฝ้ายเอง จากนั้นก็นำมาปั่นให้เป็นเส้น ทอใส่เอง ใช้ลวดลายที่สืบทอดมาจากโบราณ เช่น ลายซิ่นม่าน ลายซิ่นปล้อง เมื่อมาถึงรุ่นลูกจะมีการดัดแปลงไปเยอะมาก ได้แก่ ลายน้ำไหล ซึ่งประยุกต์ไปตามแบบสมัยนิยม ลายคำเคิบ ทำเป็นกลุ่มยกดอก ซึ่งจะใช้ดอกสีอะไรก็ได้แล้วแต่ความพอใจ ซึ่งในสมัยก่อนจะทอด้วยมือทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีการนำเครื่องมาใช้เพื่อการทอที่เร็วขึ้น หลังจากชาวบ้านว่างจากการทำไร่ทำนาก็จะมาร่วมกันทอผ้าเพื่อหารายได้เสริม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวในชุมชนและหมู่บ้าน สินค้าที่ได้มีหลากหลาย เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า ผ้าม่าน ราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลาย หรือผ้าบางชิ้นบางลายที่ทำยากมากๆ ก็จะทอขึ้นตามออร์เดอร์เท่านั้น ร้านวราภรณ์ผ้าทอ ตั้งอยู่ที่ 56 หมู่ 7 ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน 55110 โทร.0 5475 2201

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกและใช้ทางหลวงหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวอำเภอเวียงสา ก่อนถึงจังหวัดน่านประมาณ 25 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 643 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง 

มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ไปจังหวัดน่านทุกวัน สอบถามข้อมูลและตารางเดินรถได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ “www.transport.co.th

ขอบคุณ

คุณทัศนัย  สุขเจริญ

นายอำเภอเวียงสา

 

 

 10,041 total views,  3 views today

Comments

Share.

Leave A Reply

Exit mobile version