เราอาจเคยคิดว่าการย้อนหาวันวานนั้นเป็นเรื่องของคนสูงวัยที่เริ่มว่าง มานั่งเล่าเรื่องอดีตที่สนุกสนานในวัยเด็ก และออกมองหาว่าจะมีที่ไหนให้ได้กลับไปชื่นชมสัมผัสบรรยากาศนั้นอีกสักครั้ง แต่ในหลายๆ ที่ที่ยังคงความเป็นบ้านเมืองแบบเก่า มีวิถีชีวิตไม่ต่างจากเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนมากนัก มักพบว่าเป็นที่ต้องตาต้องใจวัยรุ่น และผู้คนที่เคยชินอยู่กับวิถีชีวิตแบบชาวเมืองให้ความสนใจไปเที่ยวชมมากกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ
คู่หูเดินทางเคยพาคุณผู้อ่านมาสัมผัสเมืองเชียงคานแห่งนี้เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน สมัยนั้นที่นี่ยังไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากนัก ความเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีชีวิตเรียบง่าย กับวิถีชีวิตชาวบ้านแบบดั่งเดิมที่ยังคงมนต์เสน่ห์ตราตรึงใจเราไม่รู้ลืม
แต่ เชียงคาน ณ วันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๗ นั้น มีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่ต้องตาต้องใจให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกภูมิภาคอยากมาเยือน เสน่ห์ของบ้านไม้แบบเก่าตลอดแนวริมลำน้ำโขง ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็ยังอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงคาน แม้ในปัจจุบันบ้านบางหลังอาจมีการปรับปรุงให้ดูใหม่และทันสมัยมากขึ้น เพื่อรอคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่ก็ไม่ละทิ้งกลิ่นไอของบ้านไม้ในแบบโบราณ ยังคงเน้นให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานชมรอบบ้านเมือง ใช้ชีวิตแบบชิลๆ ไม่เร่งรีบ แวะไหว้พระตามวัดวาอายุนับร้อยปี หรือขึ้นภูดูหมอกสวย เหนื่อยนักก็แวะพักทานอาหารพื้นเมืองรสอร่อย นั่งจิบกาแฟที่ร้านเก๋ๆ สักแห่ง ตกค่ำก็ออกไปสัมผัสแสงสีที่ถนนคนเดิน ช็อป ชิม ชม เก็บประสบการณ์คืนวันดีๆ ของเชียงคาน เมืองพิพิธภัณฑ์อันมีชีวิตที่อินเทรนด์ที่สุดในช่วงทศวรรษนี้ที่
อำเภอเชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ที่อยู่ติดชายแดนลาว เล่ากันว่า ชาวหลวงพระบางในครั้งอดีตได้อพพยมาตั้งรกราก ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ในเชียงคานไม่ว่าจะอาหารการกิน สำเนียงภาษาพูดของคนพื้นเมืองที่นี่จะมีความคล้ายเคียงกัน จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองคู่แฝดของหลวงพระบางเลยทีเดียว ทางหอการค้าท่องเที่ยว จ.เลย มีแผนการหลายอย่างที่จะอนุรักษ์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ สิ่งก่อสร้าง ภาษาท้องถิ่น ของผู้คนที่นี่ให้คงเดิมเป็นเอกลักษณ์ไว้ให้มากที่สุด จึงไม่มี ผับ บาร์ ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างจากทางเทศบาลอยู่ในเขตเมือง เพราะเน้นให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เท่านั้น
ปีนี้นับว่าอากาศทั่วประเทศไทยมีความหนาวเย็นกว่าทุกปี “เชียงคาน” จึงไม่พลาดที่จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนักเดินทางที่อยากจะสัมผัสอากาศหนาวเย็น แบบแห็นควันออกจากปาก ไฮไลท์เด่นๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมทำกันก็คือ การเดินหรือปั่นจักรยานเล่นบริเวณ ถนนชายโขง สัมผัสกับบรรยากาศเรียบง่าย เหมือนวิถีชาวบ้านในชีวิตชนบท ถ่ายรูปกับอาคารบ้านเรือนเก่าๆ แบบเก๋ๆ ตอนเช้ามืดควรออกไปใส่บาตรข้าวเหนียว เพราะจะมีพระมาบิณฑบาตรแถวหน้าที่พัก ใกล้ที่ไหนใส่ที่นั่น อันนี้ถือเป็นประเพณีของชาวหลวงพระบางที่ตกทอดมายังชาวเชียงคานรุ่นปัจจุบัน ตลาดเช้าจะมีข้าวเหนียวสำหรับใส่บาตรขาย หาซื้อได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ใส่แต่ข้าวเหนียวอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนกับข้าวหรือแกงต่างๆ คนที่นี่เค้าตามไปถวายที่วัดกันอีกที
ต่อจากนั้นให้นั่งรถขึ้นไปชมวิทะเลหมอกยามเช้าแสนงดงามบน “ภูทอก” ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากในตัวเมืองเพียง 5 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 211 ไปทาง อ.ปากชม เมื่อผ่านทางแยกเข้าแก่งคุดคู้ไปไม่ไกล จะพบทางแยกขวามือ มีป้ายสถานีโทรคมนาคมเชียงคาน สู่เส้นทางขึ้นยอดภูทอก สำหรับในช่วงฤดูการท่องเที่ยวจะให้จอดรถไว้ที่ปากทางขึ้นภูทอก จากนั้นใช้บริการรถสาธารณะที่ทางอำเภอเชียงคานได้จัดไว้ ค่าโดยสารคนละ 25 บาท ภูทอกเป็นภูเขาสูง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บนยอดภูเป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเชียงคาน และเป็นจุดชมวิวทิวทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงคาน ลำน้ำโขง แก่งคุดคู้ และเมืองสานะคามในประเทศลาว ได้อย่างชัดเจนสำหรับในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ในวันที่หมอกลงจัดนั้น ทะเลหมอกจะปกคลุมเมืองเชียงคานทั้งเมือง เวลานั่งรถขึ้นไปทำให้รู้สึกเหมือนตะลุยทะเลหมอกสีขาวนวลที่แทบจะมองไม่เห็นทางเลย จึงจำเป็นต้องใช้คนพื้นที่นำทางขึ้นไป ทะเลหมอกที่นี่นับว่าสวยไม่แพ้ที่ไหนๆ การเดินทางก็ไม่ไกลจากตัวเมือง เมื่อคุณได้ขึ้นมาอยู่บนนี้แล้ว จะรู้สึกได้ถึงความงดงามอลังการที่ธรรมชาติเท่านั้นเป็นผู้สร้างเอาไว้ให้เรา
หลังจากอิ่มอกอิ่มใจกับวิวสวยๆ กันแล้ว จากนั้นแวะไปอิ่มบุญกันต่อที่ “วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน” โดยใช้เส้นทางสายเชียงคาน – ปากชม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากภูทอกมากนัก เมื่อถึงหมู่บ้านผาแบ่นแล้วให้ไปตามทางแยกเข้าบ้านอุมุงอีกประมาณ 3 กิโลเมตรจะถึงทางขึ้นเขาซึ่งเป็นทางลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดพระพุทธบาทภูควายเงินแห่งนี้ ถือเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคานมานาน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2300 เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 400 เมตร โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า ในอดีตวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง แต่มักจะมีพระธุดงค์เดินทางมากปักกลดบำเพ็ญเพียรอยู่เสมอ และในบริเวณวัดยังมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ภายใต้ซุ้มอิฐใหญ่ ขนาดพอที่คนจะเข้าไปนั่งได้ 2 คน ซึ่งในภาษาถิ่นจะเรียกสิ่งปลูกสร้างในลักษณะนี้ว่า “อุบมุง” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านทางทิศตะวันออกของวัดคือบ้านอุมุง ที่หมู่บ้านอุมุงแห่งนี้ มีชาวนาผู้หนึ่งที่มักพาควายขึ้นมาหาหญ้ากินบนภูเขาบริเวณวัด และเมื่อมีพระธุดงค์ผ่านมาชาวนาผู้นี้ก็จะนำเอาอาหารมาถวายแก่พระธุดงค์เป็นประจำ ซึ่งอานิสงส์แห่งการถวายทานนี้เอง ทำให้ชาวนาทำนาขายข้าวได้เงินมากทุกปี จนร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐีและด้วยสำนึกในบุญคุณของควาย ที่ช่วยไถนาปลูกข้าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชาวนาจึงเรียกควายตัวนี้ว่า “ควายเงิน” วัดแห่งนี้จึงตั้งชื่อว่า “วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน” ตามเรื่องเล่านี้เอง
และเนื่องจากการทำนาในบริเวณภูควายเงินนั้นได้ผลผลิตดีต่อมาจึงได้มีชาวนาอพยพเข้ามาตั้งรกรากมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นหมู่บ้านและขนานนามว่า “หมู่บ้านนุมุง” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า“อุบมุง” ส่วนภูเขาลูกนั้นชาวบ้านได้เรียกกันว่า“ภูควายเงิน” เพื่อบอกเล่าถึงสถานที่และเป็นเกียรติแก่สัตว์อันมีบุญคุณที่ใช้เรี่ยวแรงช่วยทำนาจนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพและในทุกๆปีเมื่อถึงวันขึ้น15 ค่ำเดือน 3 ทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชขึ้นซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบอำเภอเชียงคานรวมไปถึงชาวลาวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มาร่วมสักการะรอยพระพุทธบาทกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจ ในบริเวณวัดพระพุทธบาทภูควายเงินแห่งนี้ ก็คือรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยแตก แต่ไม่มีอักษรจารึกขนาดกว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ1 วา รูปลักษณะเหมือนรอยพระพุทธบาทจริง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ด้านบนจะเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่พุทธฉัพรรณรังสีพระพุทธ รูปปูนปั้นสีขาวองค์ใหญ่ ประดับด้วยกระจกเงาชิ้นเล็กๆ โดดเด่นสะดุดตาต่อผู้มาเยือน ส่วนบริเวณลานจอดรถด้านหน้าก่อนลงไปสักการะรอยพระพุทธบาทจะมีปูนปั้นรูปควายเงิน ยืนรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ ที่น่ารักและแปลกตามสำหรับวัดนี้คือ “กระต่าย” เจ้าอาวาสที่นี่จะเลี้ยงกระต่ายไว้จำนวนมากหลากสีสัน น่ารักน่าเอ็นดูแสนรู้ใช่ย่อย เมื่อเห็นเราเดินมาก็จะวิ่งมาหา มาสะกิดให้เราช่วยซื้ออาหารให้กินหน่อย เป็นวิธีการทำทานต่อเพื่อร่วมโลกที่มีความสุขอีกวิธีหนึ่ง
จากนั้นเราขอพาไปอีกหนึ่งจุดชมวิวสวยๆ กลางแม่น้ำโขง แก่งคุดคู้ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ทอดตัวขวางลำน้ำโขงจนเกือบจรดทั้งสองฝั่งมีช่องให้กระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านไปได้ เพียงช่องแคบๆ ที่ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้น แก่งหินนี้ประกอบไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อยหลากหลายสีสันรูปทรงกลมกลึงสวยเป็นเงางาม โดยมีเขาภูควายเงิน ตั้งเด่นเป็นสง่าตัดกับท้องฟ้า สำหรับเวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งจนสามารถมองเห็นเกาะแก่งชัดเจน และสามารถเดินลงไปเพื่อสัมผัสบรรยากาศหาดทรายกว้างของริมน้ำโขงได้อย่างใกล้ชิด มีร้านขายอาหรและของที่ระลึกมากมาย โดยเฉพาะของฝากขึ้นชื่อของที่นี่ มะพร้าวกะทิแก้ว เนื้อหนานุ่ม เมื่อเดินกันมาจนเหนื่อยแล้วเราขอแนะนำให้แวะซื้อเครื่องดื่มกันที่ ร้านแม่หยากาแฟสด ตั้งอยู่ใกล้กับลานจอดรถ หาไม่ยาก ร้านนี้เค้าขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยหวานมัน เพราะมีสูตรการชงแบบเฉพาะเป็นของตัวเอง ใส่ใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ จึงทำให้ทุกเมนูเครื่องดื่มรสชาติกลมกล่อมลงตัว ไม่ทำให้คุณผิดหวังแน่นอน จากนั้นจะไปเดินเล่นหรือนั่งเรือชมวิว พร้อมจิบกาแฟ และสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งโขงได้แบบสบายใจ
ก่อนกลับเข้าไปยังตัวเมืองอีกครั้ง บริเวณถนนทางออกเข้าสู่เส้นหลัก เราจะพบกับ “ทุ่งดอกดาวเรือง” ที่ชาวบ้านเป็นคนเซ็ตอัพขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งสีสันของการเที่ยวเชียงคาน มีป้ายน่ารักๆ ให้เราเข้าไปโพสต์ท่าอวดเพื่อนอัพโหลดลงเฟสบุ๊คแบบว่า เรามาถึงเชียงคานแล้วนะ… เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมคนละ 20 บาท มีให้ชมตลอดทั้งปี ใกล้กันจะเป็นที่ตั้งของ วัดท่าแขก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่โดย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หนึ่งในศิษย์เอกชื่อดังของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายกรรมฐานที่สำคัญของเมืองไทย จึงมีกุฏิที่หลวงปู่ชอบเคยจำพรรษา ตั้งแต่ครั้งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ภายในมีรูปเหมือนขององค์หลวงพ่อให้เราเข้าไปกราบนมัสการขอพร นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปสลักเก่าแก่สององค์ซึ่งสกัดจากหินทั้งก้อน คาดว่าเป็นหินจากแม่น้ำโขง องค์หนึ่งเป็นปางสมาธิ อีกองค์เป็นปางนาคปรก อายุกว่า 300 ปี ทั้งสององค์ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หลังใหม่ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมล้านช้าง วัดนี้เป็นอีกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ชาวเชียงคานให้ความเคารพนับถือมาก
ตกเย็นไฮไลท์สำคัญที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยมเป็นอย่างมากกับ ถนนคนเดิน ถนนชายโขง ซึ่งมีร้านรวงตั่งอยู่ทั้งสองฝากถนน ความคึกคักต่างกับช่วงเวลากลางวันเป็นอย่างมาก ด้วยบรรยากาศแสงสียามค่ำจากร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ทั้งที่เป็นอาหารจานหลักเมนูพื้นเมือง และอาหารตามสั่งทั่วไป เช่น ข้าวเปียกเส้น โจ๊ก ขนมจีน ยำแหนม ข้าวจี่ทอด ข้าวจี่ย่าง กุ้งทอด ไอติมโบราณ ซาลาเปา ปาท่องโก๋ยัดไส้ ข้าวเกรียบ ขนมปังฝรั่งเศส ชา กาแฟ น้ำเต้าหู้สูตรเวียดนาม ฯลฯ ให้เลือกหาลองชิม มีสินค้าที่ระลึกที่ใส่ไอเดียเก๋ๆ ลงไปในชิ้นงาน เสื้อผ้า ทั้งพื้นเมืองประยุกต์ ผ้านวม ผ้าฝ้าย ผ้าพันคอฝีมือชาวบ้านในราคาย่อมเยา และเสื้อยืดสกรีนลายเท่น่ารัก กระเป๋าแฮนด์เมด โปสการ์ด ของเก่าสำหรับสะสมมีลูกเล็กเด็กน้อยออกมาเปิดหมวกแสดงความสามารถด้านการร้องเล่นเต้นโชว์ ฯลฯ เดินชมกันผ่านไปครึ่งคืนก็ยังรู้สึกตื่นตาไม่น่าเบื่อ ถนนคนเดินเปิดทุกวัน แต่จะคึกคักมากเป็นพิเศษก็ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
หากวันรุ่งขึ้นคุณยังพอมีเวลาเหลือเราของแน่นนำให้ขึ้นไปกราบสักการะ องค์พระใหญ่ภูคกงิ้ว หรือ พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ตั้งอยู่ที่ ภูคกงิ้ว ม.4 บ.ท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ถ้าเดินทางจากอำเภอเชียงคาน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2195 ไปทาง อำเภอท่าลี่ หลักกิโลเมตรที่ 19-20 มีป้ายบอกทางไปพระใหญ่ภูคกงิ้ว เลี้ยวขวาไปประมาณ 1 กิโลเมตร พระใหญ่ภูคกงิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร หล่อด้วยไฟเบอร์ผสมเรซิ่นสีทองมีความสวยงาม ตั้งอยู่บนจุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำเหืองไหลลงสู่แม่น้ำโขง บนยอดภูสูงมองเห็นฝั่งประเทศลาวได้อย่างชัดเจนสวยงามพระพุทธรูปองค์นี้ จัดสร้างโดยกองทัพภาคที่ 2 และประชาชน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ และในมหามงคลแห่งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปี เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ทรงมีแก่พสกนิกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้อัญเชิญปฐวีธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ จากพระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม พระธาตุบังพวน พระธาตุขามแก่น พระธาตุนาคูน และพระธาตุศรีสองรัก มาบรรจุไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธรูป รวมทั้งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในพระเกศขององค์พระพุทธรูปด้วย ส่วนชื่อ “พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์” นี้ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นผู้ประทานนามให้ ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธรูปปางลีลาประทานพรที่สร้างขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 นอกจากจะเป็นสถานที่มาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามน่าประทับใจอีกแห่งหนึ่งด้วย
การมาเที่ยวเชียงคานครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง การเกิดขึ้นของร้านรวงและที่พักต่างๆ ที่ดูหนาตาขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยสำหรับเราก็คือ อัธยาศัยและน้ำใจไมตรีของผู้คนที่นี่ หน้าตาที่ดูยิ้มแย้มแจ่มใส และสายตาบ่งบอกถึงความเป็นมิตรนี่กระมัง ที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั้งหลายนิยมชมชอบ… เชียงคาน
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจ.เพชรบูรณ์ ตรงเข้า ทางหลวงหมายเลข 203 ผ่าน อ.หล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขต จ.เลย ที่ อ.ด่านซ้าย อ.ภูเรือ ถึงตัว จ.เลย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง หรือจะใช้เส้นทางจาก จ.สระบุรี ทางหลวงหมายเลข 2 ผ่าน จ.นครราชสีมา ถึง จ.ขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่าน อ.ชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขต จ.เลย ที่ อ.ภูกระดึง อ.วังสะพุง ถึงตัว จ.เลย ได้เช่นเดียวกัน
รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทาง วีไอพี 999 วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงคาน ทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transpot.co.th
5,544 total views, 3 views today