คู่หูเดินทางฉบับนี้พาท่านผู้อ่านเดินทางมาไกลถึงจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอดีต เพราะมีภูมิประเทศติดกับทะเล จึงเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของภาคใต้ อีกทั้งยังมีทะเลสาบสงขลาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด สงขลาเป็นจังหวัดที่มีประวัติยาวนาน เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ตามประวัติมีการจดบันทึกเรื่องราวของจังหวัดสงขลาตั้งปี พ.ศ.1993 โดยมีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ ขวานหิน และเครื่องมือโบราณมากมาย
จังหวัดสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 950 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี รัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ส่วนทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูล
ภูมิอากาศของจังหวัดสงขลานั้น อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านประจำทุกปีคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกลางเดือนมกราคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ส่งผลให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน เท่านั้น
ครั้งนี้เราขอพาท่านผู้อ่านมาเริ่มต้นยามเช้าของวันใหม่กันที่ทะเลสาบสงขลา มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงรอบๆ ทะเลสาบสงขลายามเช้าที่ไม่วุ่นวาย เป็นบรรยากาศเงียบๆ มีเพียงชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา บ้างก็เดินเล่น บ้างก็ง่วนอยู่กับการประกอบอาชีพการงาน แกะกุ้ง หอย ปู ปลา จากอวน ที่วางดักไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ที่นี่ยังคงทำการประมงแบบพื้นบ้าน คือ ใช้เรือขนาดเล็กออกจับสัตว์น้ำที่มีอยู่ในทะเลสาบ อุปกรณ์เครื่องมือจับก็ไม่ซับซ้อน เป็นการทำประมงแบบหาเช้ากินค่ำไม่ใช่เป็นอุตสาหกรรม การออกทะเลมักทำกันตอนเช้าตรู่หรือตอนเย็น อาหารทะเลที่ได้ก็จะนำมาวางขายภายในเมืองสงขลา ในช่วงที่เราไปถ่ายทำนั้นมีมรสุมเข้ามาพอดี เรือหลายลำจึงจอดนิ่งภายใต้เมฆครึ้มของฤดูฝน แต่แม้จะเป็นฤดูฝน ชาวประมงส่วนใหญ่ก็ยังสามารถออกไปจับปลาได้ เพราะทะเลสาบสงขลานั้นไม่มีคลื่นลมเหมือนอ่าวไทย ด้วยมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่แยกออกมาจากทะเลอ่าวไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพ อยู่ติดกับแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย จึงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก อีกทั้งในอดีตยังเป็นเส้นทางในการคมนาคมค้าขายของชาวต่างชาติ เป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมและศิลปะแขนงต่างๆ มากมาย ใครที่อยากสัมผัสสงขลาในมุมที่ไม่เหมือนใคร บอกได้คำเดียวว่าห้ามพลาด
จากทะเลสาบสงขลามุ่งหน้าเข้าเมืองประมาณ 15 นาที คุณจะได้พบกับบรรยากาศตึกเก่าย้อนยุค กลิ่นไอสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกิส และตึกแถวเก่าของชาวจีนฮกเกี้ยน ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในครั้งอดีต กับสัมผัสแรก ณ บริเวณประตูเมืองสงขลาก็บ่งบอกถึงวัฒนธรรมแดนมังกรอย่างไม่ต้องสงสัย ถนนหลักสามสาย ได้แก่ ถนนนางงาม ถนนนครนอก และถนนนครใน ยังคงมีเรื่องราวบอกเล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองในครั้งอดีตซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองสงขลา รูปแบบตัวตึกสไตล์ชิโน-โปรตุกิส จะนิยมใช้ปูนเป็นโครงสร้างหลัก โดยมีหน้าต่างและประตูที่ทำจากไม้แกะสลักลวดลายอ่อนช้อยงดงามเป็นส่วนเสริม ส่วนตึกแถวเก่าของชาวจีนฮกเกี้ยนนั้น จะสร้างด้วยไม้และใช้กระเบื้องดินเผาทำเป็นหลังคา ในสมัยโบราณ แถบนี้คือย่านการค้าและการคมนาคมขนส่งที่เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นเมืองท่าที่ติดกับทะเล มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากชาวต่างประเทศทั้งชาวยุโรป ชาวอาหรับ และชาวจีน นานนับหลายชั่วอายุคน ซึ่งยังคงหลงเหลือเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละชาติอยู่บ้าง ในปัจจุบันย่านการค้าและย่านธุรกิจนั้นถูกย้ายไปยังอำเภอหาดใหญ่แล้ว แต่ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยสูตรโบราณที่หาทานได้ยาก แม้ในวันนี้ตึกเก่าเหล่านี้จะทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา แต่เรื่องราวของความรุ่งเรืองในย่านการค้าแห่งนี้ ยังคงถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น และดึงดูดใจให้ท่องเที่ยวต่างถิ่นแวะเวียนมาเที่ยวชมอยู่เนืองๆ
เดินตัดออกมาจากย่านเก่าแก่ของสงขลาตรงข้ามกำแพงเมืองเก่า เราจะเห็นตึกหลังใหญ่ รูปทรงสไตล์จีน นั่นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา อายุกว่า 100 ปี ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และของประเทศไทย เดิมเป็นคฤหาสน์ของผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาเมื่อปี พ.ศ.2421 จนกระทั่งปี พ.ศ.2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระยาวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นได้ใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นศาลากลางจังหวัดตามลำดับจนถึงปี พ.ศ.2496 ในปี พ.ศ.2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถาน และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานของชาติ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตด้วย
ด้านข้างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา คือ พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ หรือ บ้านของตระกูลติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จะมีบ้านเรือนไทย ที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา และเป็นที่เคารพรักของชาวสงขลา เป็นการจำลองจากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัศดีเรือนจำสงขลา ภายในแบ่งเป็นห้องต่าง เช่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก
จากตัวเมืองสงขลามุ่งหน้าสู่อำเภอหาดใหญ่ประมาณ 20 นาที เราจะผ่านตลาดน้ำเล็กๆ ชื่อว่า ตลาดน้ำคลองแห ซึ่งเป็นตลาดน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคใต้ ที่รวบรวมอาหารปักษ์ใต้อร่อยๆ ไว้มากมาย ทั้งอาหารไทย และอาหารมุสลิม โดยมีแม่ค้าจากละแวกตำบลคลองแหนำอาหารพื้นบ้านมาจำหน่าย มีทั้งสำเร็จรูป และทำกันสดๆ กลิ่นหอมโชยแตะจมูกมาแต่ไกล แต่ที่อยากแนะนำให้ลองชิม เพราะหาทานได้ยากมาก และหาทานได้แต่ในจังวัดสงขลาเท่านั้น คือ ยำสาย หรือที่เรียกว่า ยำสาหร่ายทะเล โดยนำสาหร่ายทะเลหรือที่คนสงขลาเรียกว่า สาย มายำกับมะพร้าวคั่ว ใส่มะนาว น้ำตาล หอมแดงซอย กลิ่นหอม รสชาติอร่อย แม้แต่ในสงขลาเองก็ยังหาชิมได้ยาก นอกจากนี้ยังมี ข้าวหมกไก่ สีเหลืองน่าทาน หอมกลิ่นเครื่องเทศ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อยนุ่มลิ้น ห่อหมกปูที่มีเนื้อปูแบบเน้นๆ ไก่กอและ ไก่ย่างราดซอสหวานปนเผ็ดนิดๆ หอมเครื่องแกงแบบมุสลิม และอีกหลากหลายเมนูที่ต้องลอง บรรยากาศริมคลองร่มรื่นเย็นสบาย ภายใต้ร่มไม้สีเขียวขจี มีที่นั่งให้รับประทานอาหารบริเวณริมคลอง ภาชนะที่ใช้ใส่อาหารจะเน้นเป็นวัสดุจากธรรมชาติ จำพวก กะลา กระบอกไม้ไผ่ หม้อดินเผา ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม พ่อค้าแม่ค้าแต่งกายย้อนยุค ยิ้มแย้มแจ่มใส เพิ่มเสน่ห์วันวานของตลาดน้ำคลองแหได้เป็นอย่างดี เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลาดน้ำคลองแห เปิดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 20.00 น.
ปิดท้ายกับการช้อปของฝากกันที่ ตลาดกิมหยง แหล่งช้อปปิ้งและแหล่งซื้อของฝากชื่อดังของอำเภอหาดใหญ่ เป็นตลาดของฝากที่นักท่องเที่ยวนิยมมาซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้าน ตามประวัติผู้ก่อตั้งคือ นายซีกิมหยง นายทุนจากสงขลาได้ก่อตั้งให้เป็นตลาดถาวร โดยได้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2471 จนถึงในปัจจุบัน นับเป็นตลาดแห่งแรกๆ ของอำเภอหาดใหญ่ ตลาดกิมหยงเป็นตลาดที่รวบรวมของฝากที่มีแทบทุกอย่าง ไม่ว่าขนมชื่อดังอร่อยๆ จากต่างประเทศหลากหลายยี่ห้อ ผลไม้นำเข้า อาหารทะเลตากแห้งไม่ว่าจะเป็น ปลาหมึก ปลากรอบ ปลาเค็ม จากทะเลสงขลา เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ามุสลิม ผ้าปาเต๊ะสวยๆ จากอินโดนีเซียที่นี่มีให้เลือกมากมาย รวมถึงน้ำหอมและเครื่องสำอางแบรนด์ดังนำเข้าจากต่างประเทศ สินค้าส่วนใหญ่จะมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป เพราะที่นี่ยังเป็นตลาดขายส่ง ที่พ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดใกล้เคียงมาซื้อและนำไปขายต่อ ตลาดแห่งนี้จึงเป็นที่นิยมของท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ตลาดกิมหยง ตั้งอยู่บน ถนนศุภสารรังสรรค์ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ รอบๆ ตลาดเป็นห้างสรรพสินค้าและโรงแรมใหญ่ๆ มากมาย เปิดทุกวันตั้งแต่ 10.00 น. -18.00 น.
การเดินทาง
โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง จนถึงจังหวัดพัทลุง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง แล้วขับต่อไปจนถึงอำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 950 กิโลเมตรโดยรถ
ประจำทาง
มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด สายกรุงเทพฯ-สงขลา และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (บรมราชชนนี) หรือ สายใต้ใหม่ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
8,360 total views, 3 views today