จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ถือเป็นประตูเมืองของภาคอีสาน ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 259 กิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สูงจาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 150-300 เมตร มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวยาวทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนบริเวณตอนล่างค่อนไปทางเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม โดยมี “ลำตะคองและลำน้ำสาขาอื่นๆ ไหลหล่อเลี้ยงบริเวณด้านเหนือของเมือง และเป็นสาขาหนึ่งขอ แม่น้ำสำคัญสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คือแม่น้ำมูล
และด้วยความที่โคราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งอุทยานแห่งชาติฯ ป่าเขาลำเนาไพร แม่น้ำลำธาร ตลอดจนวัดวาอาราม และโบราณสถานสำคัญต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ครั้งนี้เราขอพาคุณผู้อ่านมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของศาสนสถาน ปราสาทหินพิมาย หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งถือว่าเป็นปราสาทหินในนิกายมหายานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในหลายปราสาทหินที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ขอมโบราณทิ้งให้ห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาเคยมีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มากเพียงใด
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งห่างจากตัวเมืองโคราชไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 115 ไร่ ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีอายุราว 1,000 ปี เป็นปราสาทขอม ซึ่งหมายถึง ศาสนสถาน, วัด หรืออาคารเรือนยอดสำคัญที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ชื่อ พิมาย มากจากคำว่า วิมายะ หรือ วิมายะปุระ เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏในศิลาจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานและศิลปะบ่งบอกว่า ปราสาทนี้เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยพระเจ้าศรีชัยวีรวรมัน (พ.ศ. 1551) ในฐานะเทวสถานของพราหมณ์ มีรูปแบบของ ศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด และได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่าง กรมศิลปากร และ ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานฯ
เมื่อเดินผ่านทางเข้าด้านขวามือจะเป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีข้อมูลและแผนผังในการเดินเที่ยวชมบอกความสำคัญของแต่ละจุด พร้อมทั้งยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นแก่นักเที่ยว สร้างความเข้าใจในการเข้าชม
โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
พลับพลาเปลื้องเครื่อง
ตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นสถานที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ
สะพานนาคราช
บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทราย มีผนังเป็นรูปกากบาท ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร อันเป็นลักษณะนิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่า “เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินี้สืบกันต่อมาในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วอยู่ในแนวตรงกันทั้งหมด 4 ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้ อยู่ตรงกลางของกำแพง ส่วนทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะค่อนไปทางทิศเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
ชาลาทางเดิน
เมื่อผ่านซุ้มประตูด้านทิศใต้เข้ามา จะเป็นลานชั้นนอกของปราสาท จะเห็นแนวทางทอดไปยังประตูกลางของซุ้มประตูระเบียงคต แนวทางเดินนี้ก่อด้วยหินทราย ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก เป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางเดินมีลักษณะเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้องรองรับด้วยเสาไม้ซึ่งผุพังไปหมดแล้ว
บรรณาลัย
ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอกระหว่างซุ้มประตูกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นอาคารขนาดเดียวกัน 2 หลัง สร้างเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกสูงก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว จัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ เชื่อว่าเป็น “บรรณาลัย” ซึ่งหมายถึงสถานที่เก็ยรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา
สระน้ำ
ตั้งอยู่บริเวณทั้งสี่ทิศของลานกำแพงปราสาทชั้นนอก เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ ซึ่งได้ย้ายไปตั้งใหม่นอกปราสาทแล้ว เช่น วัดสระเพลง วัดพระปรางค์ใหญ่ วัดโบสถ์ และวัดพระปราค์น้อย ซึ่งสระหล่านี้น่าจะถูกขุดขึ้นเพื่อประโยชน์ของวัดในการใช้อุปโภคและบริโภค ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ซุ้มประตูและระเบียงคด
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้ว คือ มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางของกำแพงทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ซึ่งปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญที่ซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ คือ รอยจารึกบริเวณกรอบประตูห้องกลางด้านทิศตะวันออกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุชื่อ “กมรเตงชคตวิมาย” และ กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพที่สำคัญชื่อ “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ตรงกับ พ.ศ. 1651 ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูงและพระนามพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าธรณีนทวรมันที่ 1
ปราสาทประธาน
ภายในลานชั้นในซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารศาสนสถานหลายองค์ด้วยกัน ที่ตั้งอยู่ตรงกลางลานก็คือ ปราสาทประธาน ถือเป็นจุดศูนย์กลางและสำคัญที่สุด สร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ที่มักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ มณฑป และเรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบันทับหลัง มักจำหลัเป็นภาพเล่าเรื่องราวรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ บริเวณพื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร
พลับพลา
ภายในลานชั้นในทิศตะวันออกของปราสาทประธาน มีฐานอาคารก่อด้วยหินทราย รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม เว้นช่องว่างตรงกลางเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านที่หันหน้าเข้าสู่ปราสาทประธานทำเป็นมุขยื่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้คงใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
หอพราหมณ์
เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกับปราสาทหินแดง ได้ค้นพบศิวลึงค์ขนาดย่อมทำด้วยหินทราย เชื่อว่าอาคารหลังนี้น่าจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์
ปรางค์หินแดง
สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหาภารตะ ตอน กรรณธล่าหมูป่า
ปรางค์พรหมทัต
ตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประตูเป็นมุขยื่นสี่ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรม 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิสลักด้วยหินทราย สันนิษบานว่า เป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านมักเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่า สลักด้วยหินทราย ส่วนศรีษะและแขนหักหายไป เชื่อว่าเป็นรุปของพระนางชัยราชเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 นี้ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ขับมาตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ระยะทาง 259 กิโลเมตร ถึง จ.นคราราชสีมา ขับตรงมาถึงแยกตลาดแค เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทางถึง อ.พิมาย 319 กิโลเมตร
รถโดยสารสาธารณะ
บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) – นครราชสีมา ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30–18.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)
อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทย บัตรราคา 20 บาท
ชาวต่างประเทศ บัตรราคา 100 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมศิลปากร อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 30110 โทร.0 4447 1568
8,264 total views, 1 views today